วัยหนุ่มของศิลปิน ... ศ.ธนะ เลาหกัยกุล
เรื่องโดย....ฮักก้า
::
thinksea@hotmail.com
จากซ้าย - สุพร ศิระสงเคราะห์,ธนะ เลาหกัยกุล,
สาโรช จารักษ์ และชิน ประสงค์ |
ภาพถ่าย และฟิล์มสไลด์จำนวนมาก ที่ถ่ายเอาไว้เมื่อครั้งที่เจ้าของภาพยังอยู่ในช่วงของวัยหนุ่ม รอเวลาสแกนเก็บลงแผ่นดิสก์ ก่อนที่บรรดาปลวกและแมลงไม่ทราบนามจะแทะความทรงจำที่เคยบันทึกไว้แหว่งวิ่นไปเสียหมด ซึ่งไม่ช้าบางเรื่องราวที่สมองยังพอจดจำได้ทว่าไม่ชัดเจนนักถ้าไม่ได้พินิจผ่านภาพ วันหนึ่งก็อาจกลายเป็นความทรงจำสีจางในที่สุด
ศ.ธนะ เลาหกัยกุล อดีตคณบดี คณะจิตรกรรมฯมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้อยู่ในตำแหน่งเพียงระยะปีเศษ ก็ต้องลาออก พร้อมกับฟ้องอาจารย์ของคณะถึง 24 ราย เมื่อปลายปีก่อน
อาทิตย์นี้ Art Eye View ขอเลือกประเดิมนำเสนอความทรงจำในภาพเมื่อครั้งกระโน้นของเขาเป็นคนแรก ก่อนที่วาระต่อไปเราจะมีศิลปินท่านอื่นมานำเสนอ ซึ่งมีข้อแม้เพียงว่าแต่ละท่านนั้น ต้องมีผลงานให้เป็นที่จดจำและที่สำคัญอายุต้องไม่น้อยแล้ว
ไม่เช่นนั้นเราอาจจะต้องย้อนไปเล่าเรื่องราวของพวกเขาในสมัยวัยกระเตาะหัดเดินโน่น ซึ่งแน่นอนว่าในวัยนั้นคงไม่มีเจ้าของภาพคนใดที่จะจดจำเรื่องราวของตัวเองได้ และเขาเองก็ยังคงไม่ริเป็นศิลปินสร้างงานศิลปะขึ้นสักชิ้น
ภาพแรก : หลังเรียนจบจิตรกรรมฯ ศิลปากร
ภาพนี้เป็นช่วงที่ผมเรียนจบมาแล้วจากคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาพที่ถ่ายที่โรงหล่อกรมศิลป์ สิ่งที่เห็นอยู่เบื้องหลังเป็นประติมากรรมภาพนูนซึ่งเป็นส่วนประกอบของอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง คนซ้ายในภาพชื่อ สุพร ศิระสงเคราะห์ เป็นผู้ที่ปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน จังหวัดจันทบุรี ลาออกจากกรมศิลป์ไป เพราะรับระเบียบกฎเกณฑ์ของข้าราชการไม่ได้ สุพรเป็นช่างปั้นที่มีฝีมีสูงของประเทศไทยคนหนึ่ง ส่วนคนที่ถัดไปจากผม เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานชื่อ สาโรช จารักษ์ งานสุดท้ายที่เขาทำไปก่อนจะเคยชีวิตคืออนุสรณ์สถานที่พุทธมณฑลสาย 4 เขาเป็นหัวหน้าที่รวบรวมช่างปั้น ช่างหล่อ และก็สถาปนิกหลายๆคน ดำเนินการจนกระทั่งสำเร็จ เคยเป็นรองอธิบดีของกรมศิลป์ คนถัดไปอีกชื่อ ชิน ประสงค์ ยังมีชีวิตอยู่ เป็นช่างปั้นที่ปั้นทั้งงานศิลปะร่วมสมัยและงานอนุสาวรีย์ เป็นช่างปั้นที่มีฝีมือมากคนหนึ่งของประเทศไทย ถ้าให้ผมพูดตอนนี้เขาถือได้ว่าเป็นคนที่มีฝีมือสูงสุดคนหนึ่งของประเทศไทย
จากซ้าย - ศักดิ์ดา มะลิหอม,แก้ว หนองบัว,
ไกรษร ศรีสุวรรณ และ ธนะ เลาหกัยกุล |
ภาพที่สอง : ไปหมั้นสาว
อยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับภาพแรก ประมาณปี ค.ศ.1969 หนึ่งปีก่อนผมไปเรียนต่อที่อเมริกา เป็นตอนเช้าตอนที่ผมเดินลงมาจากแฟลตดินแดง กำลังจะไปหมั้นผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ก็อย่าขอเอ่ยชื่อคนที่ผมไปหมั้น( เหตุเพราะมีเหตุให้ไม่ได้แต่ง และชีวิตนี้หมั้นมาแล้วสองครั้ง และก็ไม่ได้แต่งทั้งสองครั้งสองครา) คนที่อยู่ข้างหลังผมตัวสูงๆชื่อ ไกรษร ศรีสุวรรณ เสียชีวิตไปแล้วเมื่อประมาณ 4-5 ปี เป็นอัมพาตอยู่ 20 ปี แต่ก็ทำงานศิลปะได้ คนหลังสุดชื่อ ศักดิ์ดา มะลิหอม จบอนุปริญญาคณะจิตรกรรมฯ และไปอเมริกาพร้อมผม จากเมืองไทยไปลงที่บอสตัน ศักดิ์แยกไปวอชิงตัน ดีซี เพราะว่าเป้าหมายเขาอยู่ที่นั่น ส่วนผมก็ลงที่บอสตัน เจอกันอยู่สองสามครั้งระหว่างที่อยู่อเมริกา ตอนหลังก็ทราบว่าเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง
คนกลางในรูปคือคุณ แก้ว หนองบัว ยังเหลือชีวิตอยู่ แต่ก็ป่วยสะบักสบอม เป็นประติมากรที่ปั้นเกี่ยวกับพระพุทธรูป ถ้าให้ผมพรรณนา ผมว่าเขาเป็นคนที่ปั้นพระพุทธรูปมือหนึ่งของประเทศไทย มีโรงหล่ออยู่บ้านช่างหล่อและบางใหญ่ด้วย ตอนนี้คุณแก้วก็ป่วยหลายโรคเลย และพึ่งหมอสาทิตเหมือนกันกับผม ช่วงเลานี้มันเป็นช่วงความทรงจำที่ดี สังคมทางศิลปะมันยังแคบ จุดมุ่งหมายของเราก็คิดทำงานศิลปะเท่านั้น เราไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวในเรื่องการเมืองหรือธุรกิจ พูดถึงเรื่องประติมากรรมก็ต้องเป็นที่กรมศิลป์ ระบบการศึกษาเข้มงวด แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่มีสปิริตสูง มีความเป็นศิลปินอยู่มาก และโลกมันก็แคบอยู่แค่ตรงนั้นเหมือนกัน
|
ภาพที่สาม: เต๊ะท่าประสาวัยหนุ่ม
ถ่ายที่แฟลตดินแดง ซึ่งเคยเป็นที่ๆผมใช้อยู่อาศัยทำงานศิลปะ หลังจากเรียนจบจากคณะจิตรกรรมฯ กลางวันก็ทำงานศิลปะ รับปั้น เขียนรูป กลางคืนเราก็ใช้ชีวิตท่องเที่ยวประสาหนุ่ม เมื่อก่อนนั้นมันก็มีไนท์คลับ เดี่ยวนี้ไม่มี มีคาเฟ่ การแต่งกาย สมัยก่อนกางเกงก็รัดๆหน่อยๆ สั้นๆลีบๆ เราแต่งถ่ายรูปเราก็เต๊ะไปอย่างนั้นแหล่ะ อาศัยอยู่ประมาณ 3 ปี พอไปอเมริกา รูปที่เก็บไว้หายไปเกือบหมด เป็นช่วงที่เพื่อนที่เราฝากให้เขาดูแล เขาก็ตกระกรรมลำบาก งานบางชิ้นที่หายไป ผมว่ามันเป็นล้านเลยนะ
ภาพที่สี่ : ลาแล้วเมืองไทย
เป็นภาพที่ใช้ผมทำพาสปอร์ต ในปี ค.ศ. 1970 เพื่อไปเรียนต่อที่อเมริกา โดยตั้งใจว่าถ้าเรียนจบโทก็จะกลับมาทำงานศิลปะที่เมืองไทย (แต่จนแล้วจนรอด การไปครั้งนั้นทำให้ต้องอยู่ผจญชีวิตที่อเมริกายาวนานถึง 33 ปี)
ภาพที่ห้า: เป็นอาจารย์ที่เท็กซัส
เป็นช่วงที่ผมเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสเข้าปีที่ห้า ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยศาตราจารย์กำลังจะขอรองศาสตราจารย์ การแต่งกายในภาพเป็นสไตล์ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของการแต่งตัว ไม่มียูนิฟอร์ม เขาให้อิสระเราเป็นศิลปินเต็มที่ เวลาสอนก็ ไม่ได้ใส่สูทผูกเนคไท สอนในสตูดิโอ สอนวิชาประติมากรรม และก็วิชาสามมิติ เป็นช่วงที่เรารอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และมันก็เป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาในการทำงานแก่เราตลอดชีวิต
ภาพนี้ถ่ายเมื่อประมาณ 22 ปีที่แล้ว อีกปีหนึ่งจึงรู้ผลว่าได้รองศาสตราจารย์ สอนมาอีกสิบปี ในปี ค.ศ. 1992 ก็ขอเป็นศาสตรจารย์ และก็ได้เป็นในปีนั้น แล้วลาออกในปี ค.ศ.2003 กลับเมืองไทยมาเป็นคณบดีที่คณะจิตรกรรมฯมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ปีกว่า แล้วก็ลาออก ฟ้องอาจารย์ 24 คนแล้วลาออก(หัวเราะ)
|
ภาพที่หก : ปั้นนางผีเสื้อสมุทรที่ อ.แกลง จ.ระยอง
เป็นช่วงที่เรียนจบมาใหม่ๆ อาจารย์สนั่น ศิลากร เป็นหัวหน้าในการปั้นอนุสาวรีย์ของกรมศิลป์สมัยนั้น อาจารย์สอนอนาโตมีให้กับคณะจิตรกรรมฯด้วย และผมก็ตกอนาโตมีของอาจารย์สนั่นบ่อยมาก ตอนที่ท่านมาบอกว่าอยากจะให้ผมเป็นคนปั้นนางผีเสื้อสมุทร ผมยังคิดว่าผมจะทำไม่ได้เพราะผมไม่มีความมั่นใจ เพราะว่าตกอนาโตมี อาจารย์สนั่นบอกว่า เขารู้ว่าเราทำได้ อาจารย์สนั่นก็ให้ผมทำ และแกก็ช่วยประคับประครอง ถ้าให้ผมพูด อาจารย์สนั่นเป็นคนที่ให้ผมมากที่สุดเลยทางเรื่องศิลปะและให้ปรัชญา ให้ความคิด ให้หลักเกณฑ์ในการที่จะวิจารณ์งาน และให้หลักเกณฑ์ในการที่จะทำงานบางอย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อนและทำได้ ท่านเป็นอัจฉริยะ เก่งเรื่องอนุสาวรีย์ สอนอนาโตมีเก่งมาก ดรออิ้งสวยไม่แพ้ดาวินชี ไม่แพ้ไมเคิล แองเจลโล ถ้าเป็นลูกศิษย์อาจารย์สนั่นจะรู้
ผมปั้นผีเสื้อสมุทรอยู่สองเดือน ที่ถูกเลือก ส่วนหนึ่งเขาว่าผมเป็นคนระยอง เกิดกรุงเทพฯ และก็ไปโตที่ระยอง ใครๆ ก็คิดว่าสุนทรภู่เป็นเรื่องของทางระยอง เกาะเสม็ดก็คิดว่าเป็นเกาะแก้วพิสดาร คนที่ปั้นสุนทรภู่ชื่อคุณประกิตหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ ส่วนไกรษร ศรีสุวรรรน เป็นคนปั้นพระอภัยมณี สาโรจน์ จารักษ์ปั้นนางเงือก
|
ภาพที่เจ็ด : ตกปลาคลายเครียด
ภาพนี้เป็นช่วงที่เครียดมาก ไปตกปลาเกือบทุกวัน อาทิตย์หนึ่งผมจะอยู่ในทะเลสาบสามสี่คืน ผมก็ต้องหาทางออก เป็นช่วงที่หลานสาวผมคนหนึ่งไปเรียนที่มหาวิทยาลันเท็กซัสด้วยเหมือนกัน ความเครียดอาจจะเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งผมคิดถึงบ้าน และสองชีวิตมันดูเหมือนไม่มีจุดหมายปลายทางมุ่งแต่ทำงานศิลปะ มันเครียดขึ้นมาเอง บางช่วงมันจะเครียด ผมก็เลยซื้อเรือที่เขาเรียกว่า bassboat วันไหนไม่สอนก็ออกไปตกปลา ค้างคืนอยู่ในทะเลสาบ ไปคนเดียว ในภาพนี้ได้ปลามาก็ใส่กระติกน้ำแข็งมาถ่ายที่หน้ามหาวิทยาลัย
|
พ่อ(ศิลปิน)อายุไม่น้อย มีลูกสาวอายุไม่มาก
ศ.ธนะ เลาหกัยกุล มีคุณพ่อเป็นชาวระยองส่วนคุณแม่เป็นชาวกรุงเทพฯ มีอาชีพขายขนมอยู่หน้าโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาคุณพ่อและคุณแม่แยกทางกันและคุณแม่ก็มีสามีใหม่ ขณะที่คลอดน้องสาวให้กับเขาคุณแม่ก็มีอันต้องเสียชีวิตเพราะเสียเลือดมาก น้องสาวของเขาจึงมีคนขอไปเลี้ยงและไม่พบหน้ากันจนถึงเวลานี้ ส่วนเขาอายุแค่เพียง 5 ขวบ ชีวิตก็ต้องเคว้งคว้าง กลายเป็นเด็กวิ่งรับจ้างอยู่ละแวกบ้านช่างหล่อ พรานนก
จากนั้นเขาได้เข้าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนดรุณวัฒนา สามแยกไฟฉาย โดยรับจ้างเป็นภารโรงและกินอยู่ที่นั่น เข้าเรียนถึงชั้น ป.4 คุณ ป้าซึ่งเป็นพี่สาวของพ่อให้ให้คนมารับไปอยู่ที่ระยอง จบชั้นม.6 จึงได้กลับเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯที่โรงเรียนศิลปศึกษา ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยช่างศิลป์ ก่อนจะเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เพื่อนศิลปินร่วมรุ่นที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน อาทิ ธงชัย รักประทุม, สาย เสนีย์, เทพศิริ สุขโสภา, ประยุทธ ฟักผล, ประวัติ เล้าเจริญ ฯลฯ
เมื่อจบการศึกษาใหม่ๆ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับผิดชอบงานปั้นรูปนางผีเสื้อสมุทร ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และยังได้ร่วมปั้นประติมากรรม ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ แล้วเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ณ วิทยาลัยศิลปะแมสซาซูเสทและเริ่มใช้ชีวิตในต่างประเทศเรื่อยมา
ต่อมาได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รัฐมิสซูรี่ ให้เป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรม และได้ย้ายไปสอนต่อที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ในช่วงที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้มอบตำแหน่งศาสตราจารย์ให้ รวมเวลาที่อยู่ต่างประเทศ 33 ปี โดยใช้ชีวิตการเป็นอาจารย์มาโดยตลอด
น้องขิม |
เคยได้รับทุนศาสตราจารย์ Ruth Head ในทางค้นคว้าตลอดชีวิตของการสอนที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส,รางวัลยอดเยี่ยมทางสร้างสรรค์ Robert W. Hamiton Author Awords,University Co- op Society,มหาวิทยาลัยเท็กซัส อีกทั้งทุนและรางวัลชนะเลิศด้านประติมากรรมมากมายของอเมริกา ในปี พ.ศ. 2546 ได้เดินทางกลับมาอยู่ประเทศไทย ตำแหน่งสุดท้ายคือการเป็นคณบดี คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลปะในที่สาธารณะที่มีให้เห็นในเมืองไทย ณ ปัจจุบัน นอกเหนือจากที่ระยองและสมุทรปราการคือ ประติมากรรมภาพนูนประกอบอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา,จิตรกรรมและภาพพิมพ์แบบเทคนิคผสม โรงแรมโซฟีเทล ราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น,ประติมากรรมภาพนูน บริษัทโอลิมเปียไทเปไรเตอร์ กรุงเทพฯ,ประติมากรรม ที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี(ทำร่วมกับไกรษร ศรีสุวรรณ),จิตรกรรมฝาผนัง บริษัท ธนบุรีพาณิชย์ หลานหลวง กรุงเทพฯ และเพิ่งจัดแสดงเดี่ยวนิทรรศการศิลปะชุด มะเร็ง และ "เส้น สี รูป ทรง" ไปเมื่อ ไม่นานมานี้
ขณะนี้ ศ.ธนะ เลาหกัยกุล อายุ 64 ปี มีอาชีพเป็นศิลปินอิสระ ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและ มะเร็ง !! อย่างมีความสุข ย่านถนนจรัญสนิทวงษ์ มีภรรยาเป็นชาวสุโขทัยชื่อ พรวดี คำสอน อายุ 30 ปี และลูกสาว น้องขิม- อักสรสวรรค์ เลาหกัยกุล อายุ 1 ขวบกับ 2 เดือน
ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าความรักมันคืออะไรจนกระทั่งมีลูก ก็เหมือนกับพ่อแม่ทุกคนที่มีลูก เขาจะรู้เลยว่าความรักมันคืออะไร มันมีความตอบ เมื่อตอนที่ยังไม่มีลูก ผมไม่ก็ไม่รู้หรอกครับความรักมันคืออะไร แม้จะผ่านการมีความรักแบบหนุ่มสาวมาแล้วตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงเดี๋ยวนี้ มันคนละเรื่องกันเลย
อายุเรามากเกินกว่าจะมีลูกตัวเล็กๆ ในเมื่อเรามีแล้วเค้าเรียกว่าตายไม่ลง บางทีเราเหนื่อยมาก เราควรจะพักผ่อนได้แล้ว แต่ว่ามันกลับต้องแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกว่าตายไม่ลง เราต้องถึงเขา แต่สิ่งที่ดีของการมีลูก มันทำให้ผมมองเห็นงานศิลปะมีคุณค่ามากขึ้น มันเป็นสิ่งเดียวที่เราจะเก็บไว้ให้เขา เป็นสมบัติให้เขาได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคนเรามันคืออะไร แต่ละคนมันหวังต่างกัน บางคนก็อยากจะมีเงิน บางคนก็อยากท่องเที่ยวไปทั่วโลก บางคนก็อยากจะมีอิสระ บางคนก็อยากมีความสุข ผมตอบไม่ได้จริงๆ ผมเพียงแต่รู้ว่า สิ่งที่ผมผจญอยู่เนี่ย มันเป็น Motivation ที่แรงมาก คือชีวิตของผมมันก็มีสูง ไม่เคยเดินสายกลาง มีสูงและก็มีต่ำ
แต่ผมภูมิใจนะที่ผมมีครอบครัว เพราะเราไม่เคยมีมาก่อน ผมให้ความรักแก่ลูกผมและครอบครัวผมอย่างสุดๆเลย เพราะว่าสมัยเด็กเมื่อประมาณ 62 ปีที่แล้ว ผมเรียกร้องถึงความรักและครอบครัว ซึ่งมันเคยแตกสลายอยู่ข้างใน แต่วันนี้ผมคิดว่า ผมมีส่วนที่มาเชื่อมรอยร้าวตรงนั้น รักษารอยร้าวเหล่านั้น
|