Artist
thai: สมบูรณ์
หอมเทียนทอง
เรื่องโดย....ฮักก้า
ฉันเห็นภาพของเขาครั้งแรก
ก็คราวที่ได้มีโอกาสแวะเวียนไปสัมภาษณ์ศิลปินบางราย ณ อาคารทิสโก้
ถ.สาธร ... ภาพชิ้นนั้นบนผนังชั้นล่างสุดของตัวอาคาร มีขนาดใหญ่มาก
แขวนอยู่สูงจนต้องแหงนมองคอตั้งบ่า
จนถึงวันนี้จำได้ไม่ชัดว่าภาพของเขาเขียนถึงอะไร ที่จำติดใจคือในกรอบสี่เหลี่ยมของภาพนั้น
จงใจราวจะให้สีดำเป็นพระเอก
มันไม่ใช่ภาพที่มองดูแล้ว สวยจับใจ แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ตรึงสายตาให้อยากมองแล้วมองอีก
จริงอย่างว่า เสน่ห์ของชีวิต คือการไม่อาจคาดเดาอะไรล่วงหน้าได้
ราวสองสัปดาห์ต่อมา ฉันก็ได้พบเขาเป็นครั้งแรก ด้วยเขามีธุระปะปังให้ต้องมาติดต่อประสานงานกับคิวเรเตอร์
เพื่อเตรียมแสดงงานแนวแอ็บแสตรคครั้งล่าสุด ของตัวเอง ในชื่อชุด RECENT
WORK 2 ซึ่งจะเปิดงาน ในวันที่ 6 พ.ค. 47 เวลา 18.00 น. ณ หอศิลป์จามจุรี
ย่านมาบุญครอง
ทราบข่าวจากทางหอศิลป์ฯ มาว่า วันที่ 27 พ.ค. 47 เวลา 17.00 น. ก็จะจัดให้มี
วงสนทนาภาษาศิลปินครั้ง 2 กับ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ด้วยเช่นกัน
พบกันวันนั้น...เขาสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาว สะอาดๆ ผมที่ยาวนั้นรวบมัดไว้ที่กลางหลัง
สายตาที่มองผ่านกรอบแว่นออกมา ยามสนทนากับคนรอบข้างนั้น ดูนิ่งและประสานเป็นหนึ่งเดียวกับทีท่าซึ่งไม่อหังการ์
แต่ชวนให้อยากหยุดฟังทุกคำพูดที่หลุดออกมาจากปากเขา
การไม่ทิ้งๆขว้างๆคำถามของคนที่สนทนาด้วย ตลอดจนการอธิบายถึงความเป็นตัวเอง
และในงานที่ทำได้อย่างชัดเจน คือเสน่ห์อีกข้อของเขาที่หลายคนเห็นตรงกัน
สมบูรณ์ กลับมาอยู่เมืองไทยได้ 7 ปีแล้ว หลังจากที่ที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่เมืองมิวนิค
ประเทศเยอรมัน ยาวนานถึง 24 ปี
การไปของเขาครั้งแรกนั้น ไม่รู้แม้แต่ภาอังกฤษและภาษาของประเทศที่เขาจะไปอยู่
พกพาไปเพียงความทะเยอทะยานของวัยหนุ่มที่อยากจะเรียนรู้โลกมากว่าที่เห็นในบ้านเกิด
เด็กหนุ่มจากรั้วเพาะช่างต่อสู้ทำงานแทบทุกอย่าง แม้กระทั่งการเป็นกรรมกร
กว่าที่หลายอย่างในชีวิตจะลงตัว
นานถึง 8 ปี กว่าที่เขาจะเก็บเงินเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินใบแรก
กลับมาเยี่ยมบ้าน
นานถึง 15 ปี กว่าจะได้นั่งลงทำงานศิลปะอย่างที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับการหาเลี้ยงปากท้อง
แต่ถึงนานมากแค่ไหน งานของเขาก็อยู่ในความทรงจำของคนเยอรมัน นั่นหมายถึง
คิวเรเตอร์ คนดูงาน และนักสะสมบางราย
ริมแม่น้ำ ย่านตลาดบ้านสมเด็จ ฝั่งธนบุรี นั่นแหล่ะคือบ้านเกิดของเขา
นึกทวนดู ฝั่งธนบุรีนี้มีศิลปินใหญ่เกิดขึ้นหลายคน ไม่ว่าจะเป็น จ่าง
แซ่ตั้ง ผู้ที่เขาเคยไปคลุกคลีและขอเป็นลูกศิษย์ ประเทือง เอมเจริญ
สวัสดิ์ ตันติสุข และกมล ทัศนาญชลี
แล้ววันหนึ่งความทรงจำในวัยเด็ก ก็เรียกร้องให้เขากลับบ้าน หลายคนคงไม่ต่างจากเขา
นั่นคือ เราจะไม่ลืมวัยเด็กของตัวเอง
หากเหตุผลเพียงเพราะต้องการค้นคว้าและพัฒนาเรื่องศิลปะ เขาคงไม่เลือกที่จะกลับ
เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง สังคม รวมถึงมิตรสหาย ล้วนรายรอบเขาอยู่ที่เยอรมัน
สมบูรณ์เลือกพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อ.เชียงคาน จ.เลย ทุ่มเงินสิบกว่าล้าน
สร้างสตูดิโอทำงานและที่พำนักของชีวิต ค่อยๆเรียนรู้และเข้าใจกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆในประเทศที่จากไปยาวนาน
ช่วงระยะเวลา 7 ปี ซึ่งอาจดูแสนสั้นสำหรับใครบางคน แม้ว่าจะต้องบริหารชีวิตในส่วนอื่นๆควบคู่กันไป
แต่ในฐานะศิลปิน เขาก็ยังคงทำงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งได้รับความสนใจจากคนดูงานอย่างอบอุ่น
พอจะจำงาน Installation Art ชุด เสียงพูดที่ไม่ได้ยิน ผ่านเสาวิหาร
14 ต้นอันเก่าแก่ของเขาได้ไหม
มันไม่ใช่แค่การส่งสารบางอย่างถึงคนดูเท่านั้น แต่มันยังเป็นการบอกให้เรารับรู้ว่า
แม้ว่าจะจากบ้านไปไกลแค่ไหน มิวนิค ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนไป
ในวัย 55 ปีของชีวิต ฉันถามเขาว่า อะไรทำให้เขารู้สึกว่า ศิลปะมีคุณค่ามากพอที่จะต้องทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตไปเพื่อมันขนาดนั้น
เขาตอบฉันว่า..
การทำงานศิลปะ ในส่วนที่เข้าใจพื้นฐานที่ลึกซึ้งแล้ว มันเป็นการค้นหาชีวิตของคนๆหนึ่ง
และถ้าพูดถึงศาสนาพุทธ มันน่าจะใกล้เคียงกัน คือเราหาสัจธรรมอีกอันหนึ่ง
และเราก็จะเห็นว่า สติปัญญาของเรา ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่ม
วัยแก่ จะต้องเรียนรู้และพัฒนาตลอด เพื่อหาความรู้แจ้งของตัวเอง ไม่ให้หลง
ไม่ให้เข้าใจผิด อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ผมทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง
เราจะเห็นได้ว่า เขาจะไม่ใช่ศิลปินที่ทำงานซ้ำซาก แต่มีพัฒนาการให้เราได้เห็นตลอดเวลา
ไม่ได้ชี้เฉพาะว่าต้องเขียนรูปให้สวยงาม เพื่อให้คนซื้อ เพราะเขาถือว่ามันเป็นการเสียเวลา
หากในงานแต่ละชิ้นที่ทำ มันจะต้องต่อเติมภูมิปัญญาออกมาด้วย
จึงเป็นผลทำให้ การทำงานศิลปะของเขาแต่ละครั้ง เกิดความสนุกและท้าทายตลอดเวลา
|