ดูอาร์ตอย่างไรให้สนุก (จบ)
เรื่องโดย....ฮักก้า
::
thinksea@hotmail.com
|
อาทิตย์ที่แล้ว ปิดท้ายไว้ที่ ดูอาร์ตให้สนุก ควรเริ่มต้นดูที่งานง่ายๆก่อน แล้วความง่ายที่ว่านั้นใช้อะไรเป็นตัววัด วันนี้มาแถลงไขให้ฟังต่อค่ะ เช่นเคยเป็นการเก็บตกจากวงเสวนา "ดูอาร์ตอย่างไรให้สนุก" ของสองศิลปิน ชลิต นาคพะวัน และ ผศ.สุธี คุณาวิชยานนท์
ทั้งคุณชลิตและ ผศ.สุธี เห็นตรงกันว่า ความง่ายนั้นคือใช้ตัวเราเป็นตัววัดนั้นเอง พื้นฐานเราเป็นยังไง เรารักชอบดูอะไร ก็ดูสิ่งนั้น ไม่ต้องไปเสแสร้งดูอะไรที่เราไม่ชอบ ...ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ต้องเสแสร้ง
ไม่ใช่เห็นคนไปซื้อหรือชมงานเฉลิมชัย เราก็จะซื้อบ้างชมบ้าง แต่ว่าตัวเราเองนั้นไม่ได้ชื่นชมอะไรมากนักหรอก หรือเห็นคนกิ๊บเก๋เขาซื้องานแอบสแตรค เราก็จะซื้อ ทั้งที่เราดูไม่รู้เรื่อง อย่าไปตามเขา เราต้องดูภูมิลำเนาเรา ใช้ตัวเราเป็นพื้นฐาน แล้วค่อยพัฒนาไปดูงานที่ยากขึ้นไปอีกระดับ
เรื่องของเรื่องคืออย่าพยายามปกปิดความรู้สึกข้างในตัวเรา และในสิ่งที่เราเป็น
ผศ.สุธีได้แนะนำอีกเหมือนกันว่า ในงานแบบที่เราชอบ ในงานของศิลปินที่เราชอบ เราควรจะได้ติดตามดูพัฒนาการของศิลปินคนนั้นๆด้วย ว่างานมีอะไรที่แปลกใหม่หรือไม่ หรือย่ำอยู่ที่การสร้างสรรค์งานแบบเดิม จากเคยวาดกระต๊อบ เคยเขียนตลาดน้ำ มีอะไรพัฒนาขึ้นบ้าง
อีกประเด็นเราไม่ควรยึดติดว่าศิลปินจะสร้างงานได้ดีสมใจเราทุกชิ้น ชิ้นที่คนส่วนใหญ่เคยเทคะแนนให้ท่วมท้น ซึ่งเผอิญว่าศิลปินคนนั้นๆก็ได้ตั้งใจสร้างสรรค์มันขึ้นอย่างเต็มที่ด้วย มันอาจส่งผลให้เขามีชื่อเสียง แต่ก็ไม่จำเป็นว่า งานชิ้นใหม่ของเขาจะต้องดีเสมอไป
นี่ก็น่าจะเป็นการบอกเป็นนัยๆเหมือนกันว่า การดูอาร์ตให้สนุก ดูให้เป็น ก็ไม่ควรยึดติด หรือปล่อยให้ความมีชื่อเสียงชั่วครั้งคราวของศิลปินมาสร้างภาพลวงตาให้กับเราในฐานะคนดู
ในเมื่อเปิดใจเสพงานศิลปะได้แล้ว และเลือกที่จะเสพงานศิลปะในแบบที่ง่ายก่อน โดยใช้ตัวเราเป็นตัววัดแล้ว ขั้นต่อไปเราต้องเปิดใจดูงานที่เราไม่ชอบดูบ้าง เหมือนอย่างที่คุณชลิตว่า เราเคยกินอาหารชนิดไหนที่ว่าอร่อยอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนรสปากไปกินอาหารชนิดอื่นดูบ้าง เราอาจจะค้นพบว่า ความอร่อยมีในอาหารทุกชนิด แต่อร่อยไปคนละแบบ งานศิลปะก็เป็นเช่นนั้น แต่ละแนวมันก็มีความน่าสนใจในตัวมันเอง
ตอนแรกเราอาจจะไม่เข้าใจ แต่การที่เราได้ไปดูแล้วถ้าเกิดมันมีอะไรดึงดูดใจ มันจะทำให้เราอาจจะอยากที่จะไปดูอีก อยากค้นหาความหมายของมัน แล้วจะทำให้เราทำการบ้านมากขึ้น ศึกษามันมากขึ้น เราก็จะได้รู้ว่ามันมีคุณค่าอย่างไร มีประวัติความเป็นมายังไง ผศ.สุธีช่วยเสริม
ส่วนฉันเคยเจอประสบการณ์กับตัวเองเหมือนกันค่ะ แต่ก่อนนี้เป็นคนที่ไม่สนใจชมงานจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาเลย วันหนึ่งมีโอกาสร่วมทริปไปกับผู้รู้ที่เผอิญว่าเล่าสนุกด้วย ตอนหลังก็กลายเป็นคนเริ่มสนใจชมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และที่สำคัญอยากรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอดลงในภาพมากกว่าแค่ตาเห็น ทำให้กระตือรือร้นอยากที่จะค้นหา อยากที่จะอ่านและศึกษาจากแหล่งความรู้อื่น
ดูให้แค่สนุก หรือดูเพื่อผ่อนคลายอย่างเดียวแล้ว ที่นี้ลองเลื่อนไปดูในระดับที่สูงขึ้นไปบ้าง
จากที่เคยเดินเข้าวัดบวรฯ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโขร่ง ลองศึกษาประวัติความเป็นมาดูซิ เขาเป็นจิตรกรสมัยรัชกาลที่ 4 นะ และก็เป็นคนแรกเลยที่เขียนภาพจิตรกรรมไทยแบบที่แปลกออกไปจากแบบโบราณ แต่เขียนภาพแบบแนวฝรั่ง โดยที่ไม่เคยไปเรียนเมืองนอก แต่อาศัยจากการดูรูปโปสการ์ด หรือรูปถ่ายจากเมืองนอก อาศัยลอกรูป เรียนด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นหัวก้าวหน้ามากเลย การที่เราได้ศึกษาประวัติ เราไปดูอีกที เราจะรู้สึกสนุกที่ได้รู้ เข้าใจมากขึ้น เห็นคุณค่ามากขึ้น ตอนแรกอาจจะรู้สึกว่าโอเคสวย แต่ครั้งหลังไม่ใช่แค่นั้นแล้ว
แต่ก็คงมีเหมือนกันสำหรับบางคน ที่เวลาไปดูหนังก็ไม่อยากจะฟังใครเล่า หรืออ่านบทวิจารณ์ เพราะกลัวว่าจะลดอรรถรสเวลาชม หรือกำหนดกรอบความคิดของตัวเอง แต่พอไปดูแล้วกลับอยากจะกลับมาอ่านบทวิจารณ์ศึกษาประวัติ แล้วทำให้อยากจะไปชมอีกรอบ กระทั่งได้รับแง่มุมใหม่ๆ
คนดูงานศิลปะบางคนก็คงเป็นเช่นนั้น ไม่อยากให้ใครมาอรรถาธิบายให้ฟังหรือชักชวนก่อนในบางครั้ง แต่อยากจะใช้ตาดูใช้ใจสัมผัสด้วยตัวเอง เมื่อมันมีอะไรกระตุ้นต่อม เรื่องหาความรู้เพิ่มเติมน่ะหรือ
หนังสือกี่เล่มต่อกี่เล่ม ต่อให้หนาแค่ไหน ก็จะขยันอ่าน ก็เพราะว่าคนมันอยากรู้ และเริ่มดูแล้วสนุก... ดูอาร์ตให้สนุกทั่วหน้ากันนะคะ
|