ในวันที่ นายลี เชียน หลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ เดินทางมาเยือนไทยเมื่อเร็วๆนี้ ฉันก็ได้มีโอกาสติดตามคณะสื่อมวลชน ในทริป ตามรอยพระเจ้ากรุงสยาม เส้นทาง กรุงเทพ - หว้ากอ ภูเก็ต- สิงคโปร์ - มะละกา ซึ่งจัดขึ้นโดย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ไปเหยียบดินแดนของประเทศที่ถูกขนานนามว่าเป็นหน้าต่างของยุโรป อย่างสิงคโปร์ เช่นเดียวกัน
ทำไมเราต้องตามรอย พระเจ้ากรุงสยาม หรือ พระสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าหัว รัชกาลที่ 4 ไปถึงสิงคโปร์ด้วย ในเมื่อในประวัติศาสตร์เคยบันทึกไว้ว่า พระองค์ท่านทรงเสด็จสวรรคตก่อนจะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์อย่างที่ตั้งพระทัยไว้
อ.สมฤทธิ์ ลือชัย หนึ่งในวิทยากรของทริปที่นอกเหนือจากนั้นยังมี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,อ.ทรงยศ แววหงษ์,ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ก็ได้ไขให้ฟังในระหว่างที่คณะเรารอขึ้นเครื่องที่สนามบินภูเก็ตในเช้าวันที่ 2 ว่า
เหตุผลที่เราเลือกจัดตามรอยรัชกาลที่ 4 มาถึงสิงคโปร์ก็เพราะว่าเรามีสองภาพ คือสมัยรัชกาลที่ 4 กระแสการค้าเสรีเข้ามา ซึ่งมีอังกฤษเป็นหัวเรือใหญ่ ที่จะมาทำให้สยามของเราเปิดประเทศค้าขายเสรี เวลานั้นสิงคโปร์ก็เป็นเปรียบเป็นเหมือนประตูหน้าต่างเปิดสู่ตะวันตก สิงคโปร์ถูกยึด และฐานใหญ่อันหนึ่งของอังกฤษก็ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ เพราะฉะนั้นสิงคโปร์จะเป็นแหล่งรวบรวมความรู้อะไรต่างๆ การบริหารราชการแบบฝรั่งก็อยู่ที่นั่น ดังนั้นการที่เราไปสิงคโปร์ก็เหมือนเราไปยุโรป สิงคโปร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็คือ Little ยุโรป เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 4 ก็ปรารถนาที่จะมาสิงคโปร์ แต่ที่สุดท่านไม่ได้มา แต่รัชกาลที่ 5 ท่านได้มาตอนหลัง
ในขณะปัจจุบันเนี่ย เราตามไป เพื่อที่จะไปดูว่าเวลาผ่านไปร้อยกว่าปีสองร้อยกว่าปี และปีนี้ก็ครบ 200 ปี ราชสมภพ การค้าเสรีมาอีกรอบหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นอเมริกันที่เป็นหัวเรือใหญ่ เราทำเอฟทีเอ กับหลายประเทศ สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทำเอฟทีเอเหมือนกัน แต่เป็นเอฟทีเอที่มีผลต่อการรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ คราวนี้เราก็ทำเอฟทีเอ ที่มีอเมริกันเป็นหัวเรือใหญ่ เราจะสามารถรักษาแผ่นดินไว้ได้ไหม ซึ่งเอกราชคราวนี้มันหมายถึงแผ่นดินของเศรษฐกิจ รวมถึงวัฒนธรรมมันรวมไปหมด ก็เป็นข้อที่เรามานั่งคำนึกถึงว่า เอ๊ะ ..เราจะทำยังไง เราจะศึกษาจากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนของปัจจุบันได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะนำมาคุยกัน สิงคโปร์ที่เคยบอกว่าเป็นหน้าต่างของยุโรป ปัจจุบันมันยังเป็นอยู่หรือเปล่า และมันยังมีบทบาทสำคัญอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า และเราควรไปสิงคโปร์เหมือนกับที่รัชกาลที่ 4 ปราถนาจะไปสิงคโปร์หรือเปล่า
เหมือนกับที่เราบอกว่า เวลาที่เราจะซื้อนำมัน ทำไมเราต้องอ้างอิงราคาที่สิงคโปร์ แสดงว่าสิงคโปร์ก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนกับที่เขายังเคยทำอยู่ใช่ไหม แต่มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และที่เราพาไปก็เพื่อจะดูว่าหนึ่งเราจะเอารัชกาลที่ 4 ซึ่งถูกรุมเร้าด้วยระบบอาณานิคม สมัยนั้นยึดแผ่นดิน สมัยนี้ยึดอำนาจเศรษฐกิจเนี่ย เราต้องการศึกษาเปรียบเทียบอย่างนั้น สิงคโปร์เปลี่ยนไปยังไง เพื่อเป็นประโยชน์แก่การบริหารบ้านเมือง เหมือนกับตอนนี้รัฐบาลของเรากำลังสนใจเรื่องการบริหารห้องสมุด หรือพิพิธภัณฑ์ ก็ไปดูที่สิงคโปร์
ซึ่งทริปนี้เราก็พาสื่อมวลชนไปดู แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูทั้งแง่บวกแง่ลบด้วยนะ เสรีภาพทางการเมืองของสิงคโปร์มีน้อยกว่าไทย อันนี้ผมอาจจะตั้งเป็นสมมุติฐาน เราลองไปอ่านหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ straight time เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าเขาไม่มีวิพากวิจารณ์ด่ารัฐบาล หรือโจมตีรัฐบาลได้ เรายังค่อนข้างเสรีกว่าอะไรอย่างนี้ แต่ส่วนหนึ่งเราสามารถที่จะบอกได้ว่าสิงคโปร์ยังทำหน้าที่เป็นแม่แบบของสยามได้ ห้องสมุด คุณสิริกรมาดู หรือจาตุรนต์มาดูงานที่สิงคโปร์เพื่อไปพัฒนามิวเซียม อะไรอย่างนี้
เมื่อได้ฟังเหตุผลของวิทยากรในการนำคณะเราไปในครั้งนี้ ฉันในฐานะที่เพิ่งไปเยือนสิงคโปร์เป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าสิงคโปร์เป็นอาหารก็เพียงแค่ได้ละเลียด ไม่ถึงกับได้กลืนกิน ก็ขออยากเล่าเพียงบางมุมผ่านสายตาของตัวเองเท่านั้น
ส่วนคนที่อยากฟังเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เพื่อภาพเปรียบเทียบกันของยุคสมัยจะได้ฉายชัด ฉันคงไม่สามารถเล่าได้จบภายในพื้นที่อันจำกัดนี้ และเกรงว่าประวัติศาสตร์จะบิดเบือนไป แต่อยากแนะนำให้ทุกคนได้ไปฟังบรรดานักคิดและท่านผู้รู้ ท่านถกกันในงานดีๆที่จะมีขึ้นสองงานด้วยกัน ของเดือนพฤศจิกายนนี้มากกว่า (อ่านข้างล่าง)
ทันทีที่รถปรับอากาศซึ่งมารับคณะจากสนามบิน และพาเราผ่านไปตามถนนในเส้นทางต่างๆของ สนามบิน ตัวฉันซึ่งแบกความรู้เรื่องของสิงคโปร์ ณ ปัจจุบันไปเพียงว่า เป็นเมืองที่ค่าเงินบาทของเราต่อหนึ่งดอลล่าสิงคโปร์ เท่ากับ 24.80 บาทไทย เมืองที่มีโทษปรับหากนักท่องเที่ยวทิ้งขยะ เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือถ่มน้ำลายในที่สาธารณะ ก็ได้สรุปกับตัวเองว่า ตึกสูงที่ผุดขึ้นเป็นแท่งๆเต็มไปหมดนอกจากจะทำให้นึกถึงลอดช่องของเมืองนี้จะหน้าตาเป็นยังไง ก็ช่างทำให้คิดถึงบ้านเหลือเกิน
ฉันไม่ปฏิเสธว่าสิงคโปร์ช่างมีความทันสมัย ถนนสะอาดตา เดินเที่ยวมองเมืองและผู้คนได้สบายแม้ว่าจะเป็นระยะทางเปรียบเทียบเท่า ระยะทางจากบางลำพู ถึงปิ่นเกล้า หรือว่าการที่เราไม่ต้องอยู่รอปะหน้าตำรวจถ้าหากขับรถฝืนกฎจราจร ด้วยเพราะทุกสี่แยกมีกล้องบันทึกเก็บภาพไว้ แล้วจากนั้นจึงส่งใบสั่งแทนจดหมายรักไปถึงเราที่บ้าน
แต่เมื่อได้รับรู้และสัมผัสด้วยตัวเอง ผ่านหู - ผ่านตาโดยย่อว่า ผู้คนต่างเร่งรีบ เพื่อ งาน งาน งาน .... ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในการเคหะ... คอนโดมิเนียมหนึ่งห้องราคาราว 25 ล้าน ... เศรษฐีเท่านั้นที่มีสิทธิ์เลี้ยงหมาได้... และถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายถ้าหากพระเดินบิณฑบาท ฯลฯ เหตุผลเพียงเท่านี้ก็พอจะตอบแทนหลายคนในคณะที่เดินทางไปด้วยกันว่า อยู่เมืองไทยสบายกว่ากันเยอะเลย แม้มันจะไม่ดูเอี่ยมอ่องเท่าสิงคโปร์ก็ตาม
ว่าแต่เราจะนำเอาข้อดีที่สิงคโปร์มี มาใช้กับบ้านเราได้อย่างไร เมืองที่กฎหมายดูจะใช้ได้ผลมากกว่า เมืองที่ดึกดื่นก็เดินบนถนนได้ โดยไม่ต้องกลัวใครมาจี้ชิงมือถือ หรือว่าข่มขืน เมืองที่มีร้านหนังสือขนาดใหญ่ครบวงจร อย่าง BORDERS บนถนน ORCHARD ให้เกียรติกับคนเขียนหนังสือเหลือเกิน เวลาโชว์ปกหนังสือ ไม่ได้โชว์กันแค่เล่มเดียวหรือแค่สันปก แต่โชว์ดูให้เป็นหิ้งเลย จะหางานเขียนคนไหนก็หาดูได้ไม่ยาก และดีที่สุดโดยเฉพาะหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่บ้านเราเสียภาษีนำเข้าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่สิงคโปร์เสีย 0%
ฉันเองได้หนังสือประวัติชีวิตแวนโก๊ะ มาในราคาเพียง 18.95 เหรียญ ซึ่งเล่มนี้หากต้องมาซื้อในบ้านเราราคาหลายพันบาทเลยทีเดียว ถ้าเช่นนั้นหากรัฐบาลไปดูความทันสมัยของห้องสมุดที่สิงคโปร์มา ก็ไม่น่าที่จะมองผ่านว่าทำอย่างไร คนไทยเราจะไม่ต้องต้องเสียเงินซื้อหนังสือต่างประเทศดีๆ ในราคาที่ไม่ต้องบวกภาษีมากโข แม้ไม่สามารถทำได้เท่าสิงคโปร์ ก็น่าจะน้อยลงกว่านี้ ระบบของเรามีปัญหาต้องไหน ตัวของเราน่าจะรู้กันดีอยู่ อย่าปล่อยให้ความรู้ต้องซื้อหาด้วยราคาแพงเลย เพราะเราอาจฉลาดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเหตุนี้
สำหรับการไปเยือนครั้งแรกของฉันนี้ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น กระเช้าลอยฟ้า เกาะเซ็นโตซ่า Under Water Wold น้ำพุเต้นระบำบนลานกว้าง ตลอดจนสถานที่อื่น เช่น เอสพราเนด(โรงมหรสพริมอ่าวสิงคโปร์) ที่มองดูเหมือน ปลาปักกะเป้า มากกว่าลูกทุเรียน ฯลฯ ย่อมสร้างความตื่นเต้นให้บังเกิดกับเราได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง
แต่เมื่อเที่ยวจนเหนื่อยและมองจนขี้เกียจมองแล้วสำหรับสาวสวย หมวย เซ็กส์ ที่ผ่านมาให้เห็นได้ ในระยะทางทุกๆช่วงตึก ฉันก็พยายามส่ายตามองหางานศิลปะ เพื่อมากำนัลคนอ่านหน้าผู้จัดการแกลอรี่ คอลัมน์ ART EYE VIEW ที่ไม่มีโอกาสไปเยือนด้วยกัน ว่างานอาร์ตและมองดูว่าเป็นอาร์ตในสายตาฉันในสิงคโปร์นั้น นอกจากแค่ไอ้รูปปั้นของ MerLion ( สิงโตทะเลพ่นน้ำ) หรือบรรดาสิงโตแต้มสีนั้น ยังมีงานศิลปะอะไรอีกบ้าง ที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า บางถนนบางสถานที่ในสิงคโปร์ก็ไม่ไร้ชีวิตชีวาเสมอไป
อยากรู้ต้องตามอ่านกันต่อในตอนหน้าอาทิตย์หน้าค่ะ กระซิบบอกว่า แฟนๆของศิลปินอย่าง ซาวาดอร์ ดาลี และ Botero ก็มีเรื่องมาฝากเหมือนกันนะ แถมยังเดินฝ่าเปลวแดดกับมิตรสหายผู้เดินทนไปบุก Singapor Art Musem มาด้วย แล้วจะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าให้ฟัง อย่างเช่นว่า
ทำไมศิลปินชาวสิงคโปร์บางคนถึงต้องเกิดแรงบันดาลใจเขียนภาพที่ชื่อ If Only I have a Durian Tree ออกมาด้วย