ภาพเขียนของคนไม่มีบ้าน
เรื่องโดย....ฮักก้า
::
thinksea@hotmail.com
|
มีบ้านกันคนละกี่หลัง มีคอนโดกันคนละกี่ห้องคะ และบ้านที่อาศัยอยู่ คอนโดที่กำลังผ่อน อยู่แล้วมีความสุขดีไหม
ไม่ใช่แค่ความสุขหรอกนะคะ ที่หลายคนมีนิยามแตกต่างกันไป ในคำบ้าน ของแต่ละคน ก็มีมิติที่แตกต่างกันไปเหมือนกัน
ฉันชอบคำพูดหนึ่งที่เคยได้ยินมา จำไม่ได้แล้วว่าจากที่ไหน แต่ยังจำประโยคนั้นได้ดี ประโยคที่ว่า .... ที่ไหนที่เราอยู่แล้วมีความสุข ที่นั่นก็คือบ้าน
ว่าไปแล้วประโยคที่ว่านี้ ก็เป็นประโยคที่ใช้ในการปลอบประโลมหัวใจของคนที่รู้สึกอยากมีบ้านแต่ยังไม่มีได้ดีเหมือนกันนะคะ แต่ที่มากกว่าประโยคนี้ สำหรับฉันแล้ว เมื่อพูดถึงคำว่าบ้านขึ้นมาคราวใด ทำให้นึกถึงศิลปินผู้ล่วงลับ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ผู้ไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเอง ทว่าบ้านบนเฟรมผ้าใบ เขาปลูกและสร้างมันขึ้นมาไม่น้อยหลังเลยทีเดียว
ฉันค้นหาข้อมูลของสุเชาว์ มาหลายเดือน อยากรู้จักเรื่องราวของเขาให้มากไปกว่าประโยคบอกเล่าจากปากศิลปินบางคนที่บอกว่า ชีวิตเขาเศร้านัก และมากไปกว่าแค่การได้เห็นภาพถ่ายของภาพเขียนบางภาพของเขาที่มีอยู่ในมือ ซึ่งครั้งหนึ่ง บริษัท ECHO เคยนำมาจัดแสดงร่วมกับผลงานของศิลปินอาวุโส ที่บางท่านนั้นจากโลกนี้ไปแล้วเหมือนกัน
วนไปหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี อยู่หลายรอบ ค้นหนังสือศิลปะทั้งชั้นจนแทบถอดใจ จนครั้งล่าสุด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ฉันอธิษฐาน ขอให้เจอหนังสือสักเล่มของใครก็ได้ที่เขียนถึงเขา
ไม่รู้เพราะแรงอธิษฐานหรือเพราะฟลุกกันแน่ ที่แน่ๆ การไปหอสมุดแห่งชาติครั้งล่าสุด ฉันไม่ต้องกินแห้วเหมือนเคย
ในหนังสือเล่มแรกฉันได้เห็นมีภาพเขียนจิตรกรรมสีน้ำมัน ชื่อ เงียบเหงา ของเขา ที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 นอกจากข้อมูลหน้ากระดาษเดียวกันที่บอกไว้ว่า สุเชาว์ ศิษย์คเณศ หรือนามสุกลเดิม ยิ้มตระกูล เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาอนุปริญญา สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินอิสระแล้ว
ใกล้กันนั้นยังมีอธิบายภาพที่ชื่อ เงียบเหงา นี้ว่า เป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จในยุคแรกๆ ของสุเชาว์ เป็นการแสดงอารมณ์ประทับใจในสภาพบ้านเรือนเก่าแก่ ที่มีสภาพทรุดโทรม ด้วยการใช้ฝีแปรงที่รุนแรง และบิดเบี้ยว ทั้งนี้เพื่อแสดงความกดดันที่อยู่ภายในออกมาให้เห็นถึงความเจ็บปวดและการดิ้นรน ผลงานชิ้นนี้เป็นต้นแบบของงานยุคหลังๆของเขา
น่าเสียดายที่ฉันไม่สามารถนำภาพนี้มาให้ชมได้ เพราะว่าระบบของหอสมุดแห่งชาติ ไม่สามารถให้ใครยืมหนังสือออกจากหอสมุดฯ มีเพียงภาพเขียนของสุเชาว์ชิ้นที่ชื่อ HOME 1 ที่บริษัท ECHO เคยนำมาจัดแสดงนำมาให้ชม
ฉันชอบบทความ เบื้องหลังคือภาพ เบื้องหลังคือชีวิต ที่ อำนาจ เย็นสบาย เขียนถึงสุเชาวน์ ไว้ในหนังสือชุดทัศนศิลป์ สีสันและความงาม ที่พิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2531 มากที่สุด
ราวได้แอบมอง แอบสังเกตบุคลิกของสุเชาว์อยู่ในนิทรรศการศิลปะสักแห่งด้วยตัวเอง อำนาจได้บอกเล่าถึงสุเชาว์ในความคิดของเขาว่า
..เคยพบเห็นเขาบ่อยครั้งในงานแสดงศิลปกรรม ไม่ว่างานเหล่านั้นจะเป็นงานศิลปะของศิลปินต่างกลุ่มค่ายสถาบันใด งอกงามมาจากตระกูลความคิดไหน เขาก็ไปชื่นชมผลงาน ตามแบบของคนที่ไม่มีพรมแดนแห่งความรัก
เคยบังเอิญและตั้งใจลอบสังเกตเขาบ่อยครั้ง ในทุกครั้งมีแต่ความแจ่มใส เสียงหัวเราะท่วงทำนองที่สุภาพ เย้าแหย่ให้คนถกเถียง โปรยความคิดเห็นที่คมคาย ไม่เคยเลยที่จะพบเห็นเขาต่างไปจากนี้
เคยได้ชื่นชมผลงานของเขา แสดงร่วมกับคนกลุ่มต่างๆบ่อยหน เขาเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น นอกจากเส้นผมที่เริ่มเปลี่ยนสีสัน และร่างกายที่เริ่มร่วงโรยไปตามวัย...
ถ้าเราเคยดูภาพยนตร์เรื่องฟรีด้า ที่ถ่ายทอดชีวิตของศิลปินหญิงชาวแมกซิกัน ฟรีด้า โคโลห์ คงจำตอนที่มีงานแสดงนิทรรศการครั้งใหญ่ของเธอได้ใช่ไหม ฟรีด้าป่วย ไม่สามารถไปร่วมงานได้ แต่สุดท้ายเธอก็ให้คนยกทั้งเตียงที่เธอนอนป่วย พาเธอไปร่วมงานจนได้ ด้วยสภาพที่ทุลักทุเล
แต่สำหรับสุเชาว์ ในนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา ที่มีการนำผลงานทั้งอดีตและปัจจุบันมาแสดง แต่สุเชาว์ต้องนอนต่อสู้กับโรคร้ายอยู่ที่โรงพยาบาล
ชีวิตที่เข้าใกล้ความตาย มันเศร้าทั้งต่อคนที่เป็นคนป่วยเอง และคนที่อยู่รายรอบเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครที่มองดูคนที่กำลังใกล้ตายด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้มหรอกใช่ไหม
แต่ชีวิตที่ป่วยเศร้าในหัวใจ บางทีมันไม่สามารถปรากฏ หรือสำแดงออกมาให้เห็นด้วยอาการป่วยแบบทั่วไปให้ใครต่อใครเห็นใจได้
ที่พูดเช่นนี้ฉันเพียงแต่จะเล่าไปถึงว่า หากเอาเรื่องราวของสุเชาว์มาเล่าเป็นฉาก หรือด้วยภาษาภาพ ฉากที่ฉันรู้สึกเศร้าตามไปด้วยมากที่สุด ก็คือฉากในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ตอนที่เขายังไม่ป่วย ตอนที่ยังไม่มีผู้คนห้อมล้อมข้างเตียง
ชีวิตที่ต้องพลัดพรากจากพ่อและแม่ตั้งแต่เด็ก มีเพียงพี่สาวทำงานหาเงินส่งเสียให้เรียนหนังสือ อดมื้อกินมื้อ เดินไปโรงเรียนทุกวันจากบ้านย่านบางคอแหลมถึงบางรัก ในสมัยมัธยม และเดินจากบ้านย่านบางคอแหลมไปจนถึงท่าช้าง ในสมัยเป็นนักศึกษาศิลปากร
ในชีวิตการทำงานสุเชาว์เปลี่ยนงานมากว่า 20 ครั้ง งานอาชีพครั้งหลังของเขาคือการเป็นครูสอนศิลปะในระดับประถม ที่สาธิต จุฬาฯ แม้จะรักเด็ก แต่ด้วยความรักในชีวิตการเป็นศิลปินอิสระเขาก็ลาออกมา เช่าห้องทำงานศิลปะ อยู่คนเดียวโดยไม่มีครอบครัว
ความเศร้าบางด้านของสุเชาว์ไม่ได้แสดงออกมาทางบุคลิกและสีหน้า เพราะในสายตาเพื่อนฝูง เขาคือคนที่แจ่มใสร่าเริง เป็นที่รักของมิตรสหาย แต่เขาเปิดเผยมันออกผ่านภาพเขียนของเขา
เช่นการปรารถนาที่ต้องการจะมีบ้านที่อบอุ่น ทำให้เขาสร้างงานว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับบ้านออกมามากมาย เช่นภาพเขียนชื่อ บ้านอุ่น, ฝันของคนใฝ่บ้าน, ความหวังริบหรี่, บ้านคือสวรรค์ แต่ฉันไม่มีบ้าน ฯลฯ
บ้านที่ล้วนถ่ายทอดถึงความฝันที่เงียบเหงา ให้ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว โครงสร้างสีทึมทึม ในโทนสีเย็น กับบรรยากาศในเชิงสิ้นหวัง
...ภาพคน ต้นไม้ ภาพแมวฯลฯ แยกกันไม่ออกจากความรู้สึกดังกล่าว ยิ่งภาพเด็กด้วยแล้ว มันคือการฟ้องอดีตของเขาสมัยครั้งยังเยาว์วัย
อำนาจว่าไว้อย่างนั้น
แม้อำนาจจะบอกให้เราได้เข้าใจว่า ความสำเร็จของศิลปินใช่ว่าจะต้องอยู่ในสูตรของความยากจนข้นแค้นแสนสาหัสเสมอไป แต่ชีวิตด้านเศร้าของสุเชาว์ นอกจากจะสารภาพผ่านผลงานแล้ว มีบางครั้งเหมือนกันที่มันเป็นการยอมรับจากปากคำของสุเชาว์เอง
ภาพเขียนสีน้ำมัน โดยการใช้เกรียงปาดป้ายและแต่งแต้ม เพื่อให้เกิดลักษณะผิวที่เป็นเอกลักษณ์ในงานของสุเชาว์ ถ่ายทอดบางสิ่งในตัวตนของเขาออกมาเช่นภาพเขียนบางภาพ ที่อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเมื่อหลายสิบปีก่อน ศุภชัย พานิชภักดิ์ เคยให้เหตุผลของการซื้องานของสุเชาว์ว่า
ผมซื้องานของเขามา เพราะงานของเขามีความรู้สึก
จะมีใครสักคนไหมที่พอจะใจดี รวบรวมผลงานของสุเชาว์ มาให้ชมกันครั้งใหญ่อีกสักครั้ง คงไม่ใช่แค่ฉัน เชื่อว่าหลายคนก็คงอยากจะดู
ภาพเขียนที่มีความรู้สึก ภาพเขียนของคนไม่มีบ้าน
|