มากกว่าเขียนรูป หนูก็ทำได้
เรื่องโดย....ฮักก้า
::
thinksea@hotmail.com
|
น่าอิจฉาเด็กๆกาญจนบุรีค่ะ ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องของศิลปะมากกว่าแค่การเขียนรูปให้เป็น
เรื่องของเรื่องคือเมื่อปลายมิถุนายนที่ผ่านมา หอศิลป์ร่วมสมัยกาญจนบุรี ของ อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินรุ่นใหญ่ของบ้านเรา ได้ร่วมมือกับ สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดให้มีค่ายศิลปะเด็กขึ้น
พร้อมกับเชิญเหล่าศิลปินมืออาชีพอันได้แก่ ผศ. พีระพงษ์ กุลพิศาล,สมชาย วัชระ สมบัติ, สว่าง เจริญปาละ,โกศล พิณกุล,บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส,นุกูล ปัญญาดี, ไมตรี หอมทอง,สมศักดิ์ ศิริตานนท์ ฯลฯ ไปทำการเวิร์กช้อป ให้กับน้องๆด้วย หลังจากที่อาจารย์ประเทืองเคยชวนสมัครพรรคพวกศิลปินไปสร้างสรรค์งานศิลปะที่หอศิลป์มาแล้วหลายหน
ทีแรกฉันเองก็คาดเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า คงจะเป็นแค่กิจกรรมสนุกๆที่สอนให้น้องๆ เขียนรูป แล้วเอามาโชว์กัน หมดเวลาก็เป็นอันปิดงาน แต่ที่ไหนได้ ภายในระยะเวลาสองวันเต็มๆ น้องๆได้เรียนรู้ถึงการทำงานศิลปะหลากหลายรูปแบบมากเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมกับธรรมชาติ , งาน Moral Painting หรืองานศิลปะชิ้นใหญ่ที่ต้องลงแรงทำร่วมกัน ฯลฯ กระทั่งวันสุดท้ายของงานน้องๆ เองก็ยังได้เป็นผู้จัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอผลงานของตัวเอง ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าตื่นตา ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะทำกันได้
เราพยายามให้เด็กทำงานที่เรียกว่า Moral Painting หรืองานศิลปะชิ้นใหญ่ เพื่อให้เด็กเค้าเกิดความสามัคคีในการทำงานศิลปะ ขณะเดียวกันให้เค้าได้รู้จักแชร์ความคิด แชร์ศักยภาพในการทำงาน ศิลปิน สมชาย วัชระสมบัติ หนึ่งในทีมศิลปินที่ทำการเวิร์กช้อป บอกเล่าให้ฟังในเช้าวันที่สองของค่าย
แน่นอนหล่ะว่าความเป็นค่ายย่อมทำให้เด็กได้ทั้งความสนุก ได้เพื่อนใหม่ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆกลับไป แต่สิ่งที่กลุ่มศิลปินใจดีหวังให้มันต่อยอดในวันข้างหน้าก็คือ
เมื่อเค้าโตขึ้นไป เค้าจะเห็นงานศิลปะไม่ใช่สิ่งที่นอกเหนือไปจากชีวิตเค้า เป็นสิ่งที่สอดคล้อง ดำเนินอยู่กับชีวิต จะทำให้คนเหล่านี้เป็นอนาคตของวงการศิลปะต่อไป
เมื่อหลายปีมาแล้ว บ้านเราได้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องศิลปะเอาไว้เรื่องหนึ่ง ในวิจัยนั้นสรุปผลออกมาว่า มี 10 เปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเห็นว่า ศิลปะนั้นมีความจำเป็นกับชีวิตของลูก เห็นว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์อยากให้ลูกได้เรียนรู้ แต่มี 5 เปอร์เซ็นต์ที่อยากให้ลูกเรียนศิลปะ แต่ไม่จำเป็นว่าพวกเขาต้องไปประกอบอาชีพด้านศิลปะ ขณะที่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องการให้ลูกยึดศิลปะเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและหาเลี้ยงชีพ
จากการเฝ้าสังเกต สมชาย วัชระสมบัติ มองว่า ผลวิจัยในครั้งนั้นยังเทียบเคียงกับสภาวะปัจจุบันได้ดีอยู่
มันจึงมีผลทำให้การพัฒนาศิลปะในบ้านเราดำเนินไปได้ช้า เพราะทัศนคติวิธีคิดของครอบครัว ของพ่อแม่ มองเห็นว่าศิลปะจะทำให้เค้าดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้
ท่ามกลางการ์ดเชิญมากมายที่ถูกส่งถึงฉัน เพื่อชวนให้ไปร่วมชมนิทรรศการศิลปะ ที่มีแสดงในหลายจุด หลายแกลเลอรี่ทั่วกรุงเทพฯ คงจะพอคำนวณได้คร่าวๆว่า บ้านเราไม่ได้มีคนทำงานศิลปะลดน้อยถอยลงเลย แถมจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ
ได้เลือกเดินตามเส้นทางศิลปะ แล้วศิลปะจะสามารถช่วยให้พวกเขาเป็นคนที่มีรายได้ที่ดี
เพียงแต่ฉันมีความเชื่อเฉกเช่นในอาชีพอื่นๆว่า ถ้ามุ่งมั่น ก็ย่อมพบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ แต่ความสำเร็จที่ว่านั้นอาจจะมีใช่ตัวเลขในบัญชี แต่เป็นความสุขบางด้านในชีวิตที่พวกเขาสามารถค้นพบผ่านเส้นสีและทีแปรง และในงานศิลปะอีกหลากแขนงที่พวกเขาได้ลงไปร่วมคลุกคลี
ในความเห็นฉัน ค่ายศิลปะเพียงไม่กี่วัน กับกิจกรรมที่เตรียมไว้รองรับ ถ้าทำให้น้องๆสนุกได้ ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิด และเป็นตัวเองให้มากที่สุด จากที่เคยถูกปิดกั้นไว้ด้วยความหวังดีผิดทิศผิดทาง ก็น่าจะเรียกว่าค่ายนั้นๆประสบความเร็จได้ไปกว่าครึ่งแล้ว
เห็นน้องๆแบ่งหน้าที่ และช่วยกันทาสีท่อนไม้กันคนละสี เพื่อใช้ทำงานประติมากรรมกลางแจ้ง บ้างใช้ค้อนทุบตะปู สร้างภาพดอกทานตะวัน และภาพสะพานข้ามแม่น้ำแคว แบบงานเทคนิคสื่อผสม แค่นั้น ผู้ใหญ่หลายคนที่อุตส่าห์สละเวลาจากการงานหาเลี้ยงชีพไปช่วยกันในกิจกรรมค่ายศิลปะ ก็น่าจะชื่นใจได้มากขึ้นเป็นไหนๆ
อย่างตอนที่ 3 ศิลปิน โกศล พิณกุล,บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส และ นุกูล ปัญญาดี แทกทีมกันขึ้นไปสอนเขียนภาพสีน้ำแบบ 3 in 1 นอกเหนือจากสายตาที่จดๆจ้อง ๆเฝ้ามองอยู่ไม่ห่าง ฉันว่าคงมีเด็กๆบางคนเกิดความรู้สึกหลุดจากกรอบเดิมๆขึ้นมาบ้างหล่ะว่า เอ..ไอ้การเขียนภาพนี่ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของภาพคนเดียวก็ได้นี่นา ช่วยกันเขียนก็สนุกดีเหมือนกัน
และเมื่อออกจากค่ายกลับถึงบ้าน ใครจะไปล่วงรู้ว่า พวกเขาอาจจะอ้อนขอเงินในกระเป๋าของแม่ไปซื้อสี ซื้อพู่กัน มาตวัดโชว์เขียนภาพ หรือไม่ก็อาจจะเสกประติมากรรมอันแปลกตา ผุดขึ้นที่หน้าบ้าน ในไร่ ในสวน ให้พวกผู้ใหญ่ตกใจเล่นแล้วก็เป็นได้
|