สามเหลี่ยมวัฒนธรรม ... แสงเงาทาบทาที่หน้าโบสถ์
เรื่องโดย....ฮักก้า
::
thinksea@hotmail.com
รูปทรงแสงบนวิหารวัดเชียงทอง 1,2547 |
ปรีชา เถาทอง
รูปทรงแสงบนพระอุโบสถ
วัดเชียงทอง 1,2547
|
สามเหลี่ยมวัฒนธรรรม คือ ผลงานจิตรกรรมชุดล่าสุดของ ปรีชา เถาทอง ที่นำออกแสดงร่วมกับงานชุดอื่นๆ ณ Queen Gallery ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า ในวาระ ครบ 35 ปี ของการทำงานศิลปะของเขา
เป็นการบันทึกความงดงามของสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าทางพุทธศิลป์ ณ เมืองมัณฑเลย์ สหภาพพม่า เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และจังหวัดภาคเหนือตอนบนของบ้านเราอย่าง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ น่าน และลำปาง
ผลงานชุดนี้ ปรีชาบอกว่าพยายามคิดให้ง่ายที่สุด เลือกเขียนด้านตรงของหน้าโบสถ์และหลังโบสถ์ หากแต่ลวดลายของสถาปัตยกรรมบนหน้าโบสถ์และหลังโบสถ์ รวมถึงรูปทรงของโบสถ์ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการตกทอดของแสงเงาในช่วงเวลาที่ต่างกัน ทำให้ภาพเขียนแต่ละชิ้นที่เขาเขียนขึ้นมา มีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน
พระอาทิตย์ วัตถุ ตัวกลางทึบแสง และฉากรับภาพ คือโจทย์ที่ผมยังคงใช้อยู่เช่นกับงานชุดเก่าๆ วัดต่างๆที่ผมไปพบเห็นและประทับใจเหล่านั้น ก็คือฉากรับภาพ แต่เดิมในงานชุดเก่าของผม ฉากรับภาพอาจจะมีด้านเฉียง ด้านอะไรต่างๆ แต่พอถึงงานชุด สามเหลี่ยมวัฒนธรรม ฉากรับภาพของผม ผมจะเขียนมุมตรงเลย เขียนง่ายๆ แต่ว่า มันไม่ใช่หน้าโบสถ์หลังโบสถ์ธรรมดา แต่ละโบสถ์แต่ละวิหาร ของที่ พม่า หลวงพระบาง หรือภาคเหนือตอนบน มันจะมีรูปทรงของโบสถ์ที่มันไม่เหมือนกัน มีลายประดับ ลายรวงผึ้ง ลายหน้าบันซึ่งไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเงาที่มันตกทอดบนหน้าโบสถ์ มันก็จะมีรูปร่าง มีขนาด มีปริมาณที่ไม่เหมือนกัน
ผมไม่อยากคิดอะไรซับซ้อน ก็คิดเรื่องแสงเงาบนสถาปัตยกรรมหน้าโบสถ์นี่แหล่ะ แล้วมาดูซิว่ามันมีรูปทรงยังไง น้ำหนักสัดส่วนยังไง และรูปทรงที่เกิดของแสงเงามันมีสีไหม สีบนสถาปัตยกรรม สีบนโมเสค สีบนลงรักปิดทอง สีบนลายปูนปั้น ต่างก็เป็นตัวร่วมที่จะทำงานร่วมกัน
ภาพเขียน รูปทรงแสงเงาบนวิหารวัดเชียงทอง1 เป็นชิ้นที่ปรีชาบอกว่า รู้สึกพอใจที่สุด นอกจากนี้เขายังมีความประทับใจเป็นพิเศษ กับ วัดเชียงทอง ซึ่งเป็นวัดแห่งหนึ่งในเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว นี้ด้วย
เป็นจุดที่ประทับใจ เพราะว่ามันมีเรื่องของรูปทรงสถาปัตย์ที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรมหรือว่างานเซรามิก ภาพเขียนสีบนฝาผนังพระอุโบสถ มันค่อนข้างสด รุนแรง และเรียบง่าย พอรูปทรงแสงเงาที่มันทาบลงไปบนผนังพระอุโบสถ มันก็กลายเป็นสามเหลี่ยมปิระมิดง่ายๆธรรมดา แต่เผอิญว่าสีที่มันสด สีที่มันอยู่ในเงา สีที่มันถูกแสง เซรามิกที่มีสีเทอคอยส์ สีเขียว สีน้ำเงิน อะไรแปลกๆ ที่มันแวววาว แล้วมันสะท้อนกับแสงแดด มันก็ทำให้เกิดประกายระยิบระยับ
รูปทรงแสงบนหอไตร
วัดพระสิงห์ 1 (ด้านหลัง),2547 |
ในความเป็นจริงนั้นปรีชาได้เตรียมการที่จะแสดงเดี่ยวผลงานของตัวเองเมื่อ 4- 5 ปีแล้ว แต่เพราะเจอวิฤตเศรษฐกิจจึงต้องหยุดไปก่อน และช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงต่อยอดก่อให้เกิดผลงานชุด สามเหลี่ยมวัฒนธรรม ขึ้น ซึ่งเขามองว่าค่อนข้างเป็นข้อดี ที่ทำให้เขาได้กลับไปพิสูจน์ถึงเรื่องของทฤษฎีของแสงและเงาที่เขาได้สนใจศึกษา นับตั้งแต่ยุคแรกๆของการทำงานศิลปะ
ก็ดีเหมือนกันที่ได้มาแสดงผลงานในปีนี้ ถ้าแสดงเมื่อ 4 5 ปีที่แล้ว ผลงานมันอาจไปจบแค่ เงาสะท้อนในวัฒนธรรมงานอีกชุดที่ผมจัดแสดงไว้อีกชั้น จะไม่แรงพอ พอมาถึงชุด สามเหลี่ยมวัฒนธรรม มันมาตอบโจทย์ คล้ายมันสุกงอม มันเบื่อเต็มทีแล้วตรงนั้น กับงานชุดก่อน เราน่าจะเบรกไว้ก่อน หันกลับมาพิสูจน์เหตุปัจจัยทฤษฎีแสงเงาของเราใหม่ บนฉากของวัดนี่แหล่ะ
ซึ่งมันก็เลยไปประทับใจในตัวสถาปัตยกรรมที่อยู่ใน 3 ประเทศ พม่า ลาว และภาคเหนือตอนบนของประเทศเรา งานชุดนี้มันก็เลยมาตอบโจทย์และขมวดความคิดให้ เราเหมือนได้ย้อนกลับไปเอาเรื่องแสงเงากลับมาใช้ใหม่ ที่ตรงไปตรงมาแบบซื่อๆ แต่มันก็ตอบโจทย์อะไรบางอย่าง ไม่เหมือนกับงานชุดแสงเงาบนวัดพระแก้ว หรือบนวัดโพธิ์ที่ผมเคยเขียน
แสงเงาตกทอดและทาบทาที่หน้าโบสถ์และหลังโบสถ์ ชุดสามเหลี่ยมวัฒนธรรม จะให้ความรู้สึกเช่นไรกับคนดู และจะถูกใจบรรดาแฟนๆที่ติดตามและเฝ้ามองถึงพัฒนาการของผลงานศิลปะของปรีชา เถาทอง หรือไม่ ไปชมกันได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 10 กรกฎาคม 2548 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 4 Queen Gallery ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า สอบถาม โทร.0-2281-5360-1
|