Creative internet & e-business solutions
Google
 
www www.mew6.com
ศิลปะ-ศิลปินการออกแบบบรรจุภัณฑ ์เพลง ทำเว็บทางนี้มีรัก
 
ศิลปะในสายตาฉัน
จ่าง แซ่ตั้ง
สมบูรณ์ หอมเทียนทอง
พู่กันของใคร?
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
แกลลอรี่คนจน
ภาพของคนรักฝน
ฟรีด้า คาฮ์โล
นู้ดผู้หญิง...
Double Nature
กอด
เธอตัวจริงกับผู้หญิงในภาพ
ปั้นฝัน จึงปั้นดิน
ถ้าเรารักมัน มันก็เป็นของเรา
วิหารของเราเอง
"คนบ้า"หรือว่า"ช่างจิตรกร"
เหตุที่เขียนแม่ให้แปลกไป
ยุคสมัยที่เป็นเรา
รักเรายังหวานอยู่ ...
ล้านเส้นสี แสนกนก
กระป๋องซุป ของ แอนดี้
ถ้าไม่ดัง ขอให้ไพเราะ
ห้องเรียนศิลปะของ"ครูยิ่ง"
สิงคโปร์ในสายตา (1)...
สิงคโปร์ในสายตา (จบ)...
109 มองพิศ...
สีเปื้อนฟิล์ม
ศราวุธ ดวงจำปา...
ภาพเขียนของคนไม่มีบ้าน
นักศึกษา มศว...
ที่ว่างและช่องว่าง
ภาพเขียนวิจิตร...
เขียนภาพบูชาคุณ...
ตื่นของนอก
ตายก่อนดับ
ศิลปะ – มากกว่าแค่วาดรูป
ดูอาร์ตอย่างไรให้สนุก (1)
ดูอาร์ตอย่างไรให้สนุก (จบ)
หยุด-ยอม-เย็น
ขอนแก่น
คิดถึงมาก-คิดถึงเหลือเกิน
นุกูล ปัญญาดี สานฝัน...
เขียนสวนสมเด็จย่า...
“สามเหลี่ยมวัฒนธรรม”
อาร์ตอ้วนๆ
มากกว่าเขียนรูป...
แลใต้ผ่านงานศิลป์
หอศิลป์กระบี่...
เส้นสีเดินทาง...
สุเทพ จันทระ ...
สินบน
พรชัย ใจมา
เสียงดังเจ้าปัญหา
ควันบุหรี่บนภาพเขียน
แรกรู้จัก… “พู่กันสัญจร”
แปลงโฉมอาคาร
วัยหนุ่มของศิลปิน
อารมณ์ชีกอ
สีน้ำชุ่มฉ่ำ...
น้องชายที่แสนดี
  mail :: thinksea@hotmail.com

หอศิลป์กระบี่...ฝันในอากาศที่รอวันจับต้องได้

เรื่องโดย....ฮักก้า :: thinksea@hotmail.com

ได้ยินว่าพื้นที่ไหนกำลังจะมีหอศิลป์ ก็รู้สึกดีใจไปกับคนในพื้นที่นั้นๆด้วยทุกครั้ง

เพราะเชื่อว่าการที่มีการผลักดันให้มีหอศิลป์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยคนกลุ่มไหน ย่อมนับเป็นความปรารถนาดีที่พวกเขามีต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตนอยู่แล้ว อีกอย่างเราก็ได้รู้เห็นกันมาหลายตัวอย่างแล้วว่า การเกิดขึ้นของหอศิลป์ ในแต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ไหนจะต้องผ่านปัญหากับการทำความเข้าใจต่อมวลชนว่าหอศิลป์สำคัญกับวิถีชีวิตของคนไทย ณ ปัจจุบันอย่างไร เพราะคนไทยบางกลุ่มยังเชื่อว่าวัฒนธรรมการดูงานศิลปะ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่คนไทยปฎิบัติกันเหมือนเช่นในเมืองนอก และเราเพิ่งมาตามตูดเขาเมื่อไม่กี่พอศอนี้เอง

อีกทั้ง การหาทุนเพื่อมาสร้างหอศิลป์ให้เกิดขึ้นจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะการที่แหล่งทุนใดหรือหน่วยงานไหน ใจป้ำยอมจ่ายเงินเพื่อมีส่วนช่วยสานฝันให้มีหอศิลป์ มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้ธุรกิจของแหล่งทุนนั้นๆ ดีวันดีคืนได้เลย

นอกจากจะต้องคิดหาคำเท่ห์ๆมาปลอบใจตัวเองแบบคนมองโลกในแง่ดี ว่าเงินที่ยอมควักออกจากกระเป๋านั้นให้คิดเสียว่า “คืนกำไรให้กับสังคม”

พูดถึงคำว่าคืนกำไรให้กับสังคมแล้ว ทำให้คิดถึง “อาร์ตแค้มป์ที่กระบี่” ที่เพิ่งได้ไปร่วมมาค่ะ อาร์ตแค้มป์ครั้งนั้นทำให้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในฐานะคนๆหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้มีธุรกิจเป็นของตัวเองเลย จะหาวิธีคืนกำไรให้กับสังคมได้ด้วยวิธีใด

และอาร์ตแค้มป์ครั้งนั้นยังทำให้ฉันเชื่ออีกด้วยว่า นอกจากต้นทุนชีวิตที่ทุดคนมี เราทุกคนก็มี “กำไร” ติดตัวกันอยู่ไม่น้อย อย่างน้อยๆการที่เรามีชีวิตเกิดมา และยังเหลือเวลาได้เสพชมโลกใบนี้อยู่ นี่ก็ถือเป็นกำไรชีวิตที่ไม่อาจประเมินค่าได้

“ตัวเราเองก็แก่ลงทุกวัน จะทำแต่งานศิลปะของตัวเองมันก็กะไรอยู่ น่าจะได้ทำอะไรให้คนอื่นบ้าง”

นั่นคือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ บุญเกษม แซ่โคว้ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวกระบี่ เกิดความคิดในการชักชวนเพื่อนศิลปินจากรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่ง เดินทางลงใต้ไปเขียนภาพที่กระบี่ เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่บุญเกษมได้เรี่ยไรหาทุนเพื่อทำงานศิลปะชุด “สวัสดีกระบี่ วันเวลาอันดามัน” ซึ่งเป็นงานศิลปะส่วนตัวของเขาเอง

ครั้งนั้นเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะหาทุนเพื่อทำงานศิลปะให้ได้สักสี่แสนบาท แต่ปรากฎว่าได้เงินมาราวสองแสนบาทเท่านั้น และส่วนหนึ่งนั้นเป็นตั๋วบินฟรีที่สายการบินแห่งหนึ่งให้มา บุญเกษมจึงตั้งใจว่าช่วงสิ้นปีจะลองหาทุนเพิ่มเติมอีกครั้ง เขาจึงนำเงินทั้งหมดไปซื้ออุปกรณ์ในการทำงานศิลปะ ขณะที่ตั๋วบินฟรีใช้ไปเพื่อการเดินทางของเพื่อนศิลปินที่ลงมาเขียนภาพตามคำชักชวนของเขา โดยให้เพื่อนศิลปินหิ้วเฟรมหอบผ้าใบในการเขียนภาพมากันเอง

เมื่อถึงวันต้องเดินทางกลับ ภาพเขียนบางส่วน บุญเกษมตั้งใจจะขอจากเพื่อนศิลปินไว้ เพื่อติดแสดงอย่างถาวรใน “หอศิลป์กระบี่” ฝันเล็กๆที่ได้เริ่มผุดขึ้นในความคิดของเขา ณ ตอนนั้น

อาร์ตแค้มป์ในครั้งแรกนั้นศิลปินทุกคนยอมรับว่า เรื่องการเดินทาง ที่พัก การกินอยู่ ทุกอย่างดีหมด แต่สรุปกันว่าเขียนภาพได้น้อยไป เมื่อรอให้เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในช่วงปลายปี 2547 ผ่านพ้นไป ปลายเดือนกรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา บุญเกษมจึงประสานงานนำเพื่อนศิลปินจากรุงเทพฯที่เข้าใจในเจตนารมณ์ของเขาว่าอยากให้หอศิลป์เกิดขึ้นในรูปแบบใด ลงมาเขียนภาพที่กระบี่อีกครั้งหนึ่ง

และแล้วการเริ่มต้นที่เล็กๆแต่มีพลังก็เกิดขึ้น อาร์ตแค้มป์ในครั้งล่าสุดซึ่งฉันได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมทริป มีศิลปินจากทางใต้ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นครูศิลปะลงมาร่วมกิจกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน กลุ่มเล จากนครศรีธรรมราช อาทิ ภิญโญ เพชรแก้ว,อุทัย สันติวีรยุทธ,ธวัช ฤทธิโชติ,หมัดหนูด บุญเทียม,ชัยยันต์ จงจงประเสริฐ ,กลุ่มของ รศ.วุฒิ วัฒนสิน จากปัตตานี, อาจารย์สุเทพ จันทระ จาก กลุ่มบัณทายสมอ กระบี่ และ วารี วายุ หรือ วินัย อุกฤษณ์ กวีและนักเขียนแห่งเกาะบูบู

เหล่านี้เดินทางมาสมทบกับศิลปินที่เดินทางมาจากกรุงเทพและเชียงราย อาทิ ไพรวัลย์ ดาเกลี้ยง,โกศล พิณกุล,ประทีป คชบัว,มาโนช เพ็งทอง,พิบูลศักดิ์ ละครพล ฯลฯ และศิลปินรุ่นใหม่ ปิ่นนุช ปิ่นจินดา,จุไรรัตน์ กุลพาณิชย์

“นอกจากเป้าหมายที่ผมอยากจะมีหอศิลป์เกิดขึ้น อาร์ตแค้มป์ครั้งล่าสุดนี้ผมอยากให้ศิลปินและครูศิลปะทางใต้ได้มีส่วนร่วมด้วย เพื่อพวกเขาจะได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานศิลปะกับศิลปินที่มาจากรุงเทพบ้าง”บุญเกษมกล่าว

ศิลปินจากรุงเทพฯเดินทางไปกระบี่โดยการอนุเคราะห์ของ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และทั้งหมดที่มาสมทบกันเข้าพักที่ MARITIME PARK & SPA RESORT ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองกระบี่ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ต้องโบกมืออำลากระบี่ โดยมี คุณน้ำผึ้ง- พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล บุตรสาวเจ้าของโรงแรม ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์เรียนเขียนภาพกับบุญเกษมคอยให้ความสะดวกในด้านต่างๆ ซึ่งต่อไปนี้เธอเองก็เป็นผู้หนึ่งในทีมคณะกรรมการ(ที่ได้มีการลิตส์รายชื่อออกมาแล้ว) ที่จะช่วยกันสานฝันให้มีหอศิลป์เกิดขึ้นในกระบี่ด้วย

ตลอดทั้งทริปศิลปินได้ตระเวนเขียนภาพตามจุดท่องเที่ยวและสถานที่ที่น่าสนใจของกระบี่ ไม่ว่าจะเป็นอ่าวท่าเลน,หาดไร่เลย์,วัดเก่าแก่กลางเมือง,มัสยิด,บ้านในสระและปิดท้ายกันที่ อ่าวนาง

การเดินทางไปในแต่ละจุด บางช่วงบางโอกาสได้รับความช่วยเหลือหยิบยื่นน้ำใจไมตรีจากชาวบ้านและผู้ประกอบการเล็กๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเรือที่อ่าวท่าเลน ร้านกาแฟเล็กๆของ พี่เรวัตร ที่ไร่เลย์ และเงาะสดๆหอบใหญ่ จากสวนของชาวบ้านในสระ ล้วนแต่เป็นที่ซึ่งให้ศิลปินได้ไปแวะพักดื่มน้ำดื่มกาแฟ ยามที่เมื่อยล้าจากการเขียนภาพ

“ผมอยากให้ในวันหน้าที่มันเกิดหอศิลป์ขึ้นมาคนทุกคนในกระบี่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ให้ข้าวเรากิน คนที่ให้เรือเราออกไปเขียนรูป เขาได้รู้สึกว่าเขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างหอศิลป์ เมื่อกี้ผมก็ได้อธิบายให้บังเจ้าของเรือฟัง ว่าบังก็ได้มีส่วนในการสร้างหอศิลป์เช่นกันนะบัง” บุญเกษมชี้มือไปยังบังเจ้าของเรือชาวมุสลิม ในวันแรกที่กลุ่มศิลปินเดินทางไปถึงกระบี่และได้ลงพื้นที่เขียนภาพที่อ่าวท่าเลน

ใครหลายคนอาจตั้งคำถามว่า หอศิลป์กระบี่เวลานี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว และเมื่อไหร่จะสร้างเสร็จ บุญเกษมบอกว่าเขาไม่สามารถตอบได้ ทุกวันนี้ได้มีผู้เสนอให้พื้นที่สำหรับการสร้างหอศิลป์มาแล้ว แต่เขาอยากให้การได้มาไม่มีข้อผูกมัดใดๆ และอยากให้หอศิลป์ที่สร้างขึ้นได้เป็นของประชาชนและชาวกระบี่อย่างแท้จริง จึงขอตรวจสอบวัตถุประสงค์ของผู้เสนอให้พื้นที่ก่อน

ขณะที่ภาพเขียนของศิลปินที่ตกลงกันว่าจะมอบให้สำหรับจัดแสดงภายหอศิลป์กระบี่คนละสองภาพนั้นจะถูกเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการชั่วคราวก่อน ช่วงเวลาที่ยังไม่มีหอศิลป์ก็จะถูกนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ และตามวาระโอกาสที่สำคัญ เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสชมผลงานของศิลปินที่ตั้งใจเขียนขึ้นกันสุดฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นตามสนามบินหรือตามโรงแรมต่างๆส่วนภาพจากศิลปินอีกคนละหนึ่งภาพจะแจกจ่ายไปยังผู้ให้การสนับสนุน

แล้วนับจากนี้ไปจะเป็นการประชุมของคณะกรรมการอย่างเป็นทางการว่า จะร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนกิจกรรมใดให้เกิดขึ้นอีกบ้าง เพื่อให้หอศิลป์เกิดขึ้นได้จริงในวันข้างหน้า

“ถ้าถามว่าหอศิลป์ ทุกวันนี้ยังลอยอยู่ในอากาศไหม เรียกว่ายังลอยอยู่ในอากาศอย่างนั้นก็ได้
แต่ผมอยากให้เห็นว่า กิจกรรมที่เราทำนี้ก็คือการที่เราได้เริ่มต้นแล้ว ภาพเขียนของศิลปินที่ยังเก็บไว้ บางกิจกรรมเราอาจจะนำมาพิมพ์เป็นเสื้อขายเพื่อเป็นกองทุนสำหรับการสร้างหอศิลป์ แม้เงินจำนวนที่ได้มา 20 ปี เราอาจจะยังไม่มีหอศิลป์เกิดขึ้นก็ตาม แต่ผมอยากให้คนที่มาซื้อเสื้อไปรู้สึกว่าคุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการสร้างหอศิลป์ในอนาคต”


ก่อนหน้านี้ บทบาทของ บุญเกษม แซ่โคว้ ในกระบี่ เจ้าตัวบอกว่าไม่ค่อยเป็นที่ประทับใจต่อภาครัฐและภาคเอกชนสักเท่าไหร่ เพราะนำทีมรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เรื่อยๆ แต่มาถึงวันนี้ใครที่มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมกับเขาในพื้นที่ของกระบี่ จะเห็นว่าเขาคนนี้สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในกระบี่ได้อย่างไม่ลำบากปากนัก

มิใช่ว่าเขาหยุดรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วกลับลำหันมาเป็นผู้ทำลายเสียเอง แต่เขาได้พยายามปรับบทบาทของตัวเองโดยการหาแนวร่วมและชักชวนผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหนหรือฐานะใด มาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่เพื่อจับมือร่วมกันในการเป็นผู้ดูแลกระบี่บ้านเกิดของตัวเอง แผ่นดินซึ่งให้กำไรแก่บุญเกษมมาตลอดชีวิต

และเขาในฐานะคนทำงานศิลปะคนหนึ่ง ที่เห็นว่างานศิลปะสำคัญกับชีวิตผู้คนอย่างไร เวลานี้มีวิธีคืนกำไรให้กับบ้านเกิด ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้มีหอศิลป์เกิดขึ้น พร้อมกับเพื่อนศิลปินและผู้ที่ให้การสนับสนุนเขา แม้ว่าทุกวันนี้ บ้านในความหมายของคนทั่วไป เจ้าตัวจะยังไม่มีเป็นของตัวเองก็ตาม แต่บุญเกษมถือว่าทุกตารางนิ้วของกระบี่ คือบ้านของเขา

“หอศิลป์ ณ ที่แห่งอื่น ผมก็ไม่ได้ไปเห็นมามากนัก แต่ผมมองกระบี่ว่า หนึ่งมันเป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นเมืองที่สวยและมีเสน่ห์ด้วย บ้านผมสวยฉิบหายทำนองนั้น และถ้าบ้านผมมันจะมีหอศิลป์ มันจะเป็นไรไป ข้อที่สองมันก็เป็นความภาคภูมิใจของคนในกระบี่ ว่าเราก็มีศิลปวัฒนธรรมนะ

ผมมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ขนำริมทะเลและ สะพานไม้ที่ยื่นลงไปในทะเลมันอาจจะกลายเป็นคอนกรีต และการที่ศิลปินได้มาเขียนรูป รูปที่เขาบันทึก มันก็เหมือนเราได้หยุดวันเวลาเอาไว้ คงสภาพความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวไว้ในภาพวาด ซึ่งมันก็จะไปอยู่ในหอศิลป์”

นั่งรถผ่านเข้าไปในตัวเมืองกระบี่ สังเกตดูตึกรามบ้านช่อง กระบี่อาจไม่ใช่หัวเมืองสำคัญของภาคใต้ ที่มีหลักฐานปรากฎให้เห็นเป็นตึกเก่าของเจ้าขุนมูลนายในอดีต เมื่อลบภาพอาคารคอนกรีตและสิ่งที่มีมาพร้อมกับความเจริญในปัจจุบันทิ้งไป กระบี่ก็คือเมืองแบบบ้านๆ ที่มีธรรมชาติอันงดงามโอบล้อมเป็นเสน่ห์

และหากจะมีหอศิลป์กระบี่เกิดขึ้นจริง จะเรียกว่าเป็นการเสริมเสน่ห์ให้กระบี่มีเสน่ห์มากขึ้นไปอีกก็ไม่ผิดนัก ว่าแต่ว่าคนกระบี่จะมีความพยายามพอที่จะจับฝันในอากาศมาปั้นเป็นฝันที่จับต้องได้จริงหรือไม่ก็เท่านั้น ซึ่งเราๆต้องติดตามดูกันต่อไป


All content ฉ 2003 copyright 2003 Gomew.com, All rights reserved.
Commercial use is prohibited.Please read our terms of use.
Powered and Design by www.gomew.com
Contact Us at :: 4/1 Soi 12, Chotana Rd, T.Changpuek, A.Mueng, Chiang Mai 50300, Tel. 053-408771 Fax. 053-408771 Email. mew6@mew6.com