ห้องเรียนศิลปะของ ครูยิ่ง
เรื่องโดย....ฮักก้า
::
thinksea@hotmail.com
|
เรียนศิลปะไม่ใช่แค่การเขียนรูป.... มี ครูยิ่ง - ยิ่งพงค์ มั่นทรัพย์ แห่งโรงเรียนอนุบาลร่ม เย็น ต. ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อีกคนหนึ่งหล่ะที่เชื่อเช่นนั้น
ในวันที่ละอ่อนกว่า 700 คน ทำการยึดหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่แข่งขันวาดภาพสด ครูยิ่งก็ถือโอกาสคุมทีมลูกศิษย์ของเขา 4 คน อันประกอบด้วย น้องไตเติ้ล - น้องใบเตย - น้องซิลเวีย และน้องนินจา มาร่วมยึดหอศิลป์กับเขาด้วยคน โดย มี ครูดาว คนสวย เป็นคนคุมท้าย
มันเป็นเช้าวันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งหอศิลป์ฯ ถูกใช้เป็นสถานที่ จัดให้มี การประกวดวาดภาพสดศิลปกรรม ปตท. เยาวชนภาคเหนือ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ พลังไทยรวมใจ เทิดไท้มหาราชินี โดยการจัดงานขึ้นร่วมกันระหว่าง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมายุครบ 72 พรรษา
แม้ว่าปีที่แล้วครูยิ่งจะเคยพารุ่นพี่ของลูกศิษย์ทั้ง 4 มาคว้ารางวัลที่ 2 กลับไป อย่างไรก็ตามการเป็นทัพหน้าพาลูกศิษย์มาร่วมงานและสมัครลงแข่งขันด้วยในปีนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ครูยิ่งจะต้องคาดหวังให้ลูกศิษย์ตัวน้อยแสนซนของเขาต้องคว้ารางวัลกลับไปเหมือนเช่นรุ่นพี่
อยากพามาที่หอศิลป์ครับ อยากพามาดูว่าศิลปินเวลาเค้ามีผลงาน แล้วเค้าทำผลงานเสร็จแล้วเนี่ย เมื่อถูกนำมาแสดงเป็นอย่างไร แล้วอยากให้เขาได้มาซึมซับความรู้สึกของศิลปินผ่านผลงาน และให้เขาได้เห็นการทำงานของเพื่อนๆหลายๆคนด้วย
นับเป็นโชคดีของ น้องไตเติ้ล น้องใบเตย น้องซิลเวีย และน้องนินจา และเด็กคนอื่นๆ ที่นอกจากจะได้มาพบเจอเพื่อนๆต่างโรงเรียน พวกเขาก็ยังได้มีโอกาส แสดงความสามารถในการวาดภาพกันแบบเป็นทีม ท่ามกลางผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ระดับประเทศ ในนามของนิทรรศการ ศิลปกรรมแห่งชาติ ที่ถึงคราวสัญจรไปแสดงที่หอศิลป์ในช่วงเวลาเดียวกัน
ภายหลังจากที่ลูกศิษย์ตัวน้อย ถึงเวลาถูกเกณฑ์เข้าสนามแข่ง ครูยิ่งก็ถือโอกาสใช้ช่วงเวลาว่างเว้นนั้น มาเล่าถึงวิธีการสอนศิลปะในแบบของครูยิ่งให้ฟัง พร้อมกับเล่าถึงเส้นทางชีวิตของตัวเองก่อนที่จะมาเป็นครูศิลปะ ที่แม้ว่าอาจจะดูเป็นงานเล็กๆในสายตาใคร แต่ก็เกิดผลเป็นจริงและ ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้นคุณครูศิลปะท่านใดที่กำลังคลำทางไปไม่ถูก อยากจะรู้วิธีการสอนศิลปะของครูยิ่งพอเป็นแนว เชิญล้อมวงมาฟัง
ผมไม่ได้มาสายแบบว่าอาร์ตโดยตรง ผมมาสายด้านงานสถาปัตย์ - ก่อสร้าง ผมจบจากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก จบมาก็มาทำงานด้านสายก่อสร้าง อยู่ในฝ่ายออกแบบ โปรเจกต์ที่ทำอยู่ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน แต่ไซต์งานอยู่ที่เชียงใหม่ พอรู้สึกตัวเองว่า มันไม่ใช่ทางนี้แล้ว ผมก็เลยปรับ เพราะอยากทำงานด้านศิลปะมากขึ้น ก็เลยมาจับงานด้านการทำดนตรี ด้านละคร แล้วก็มาทำงานด้านศิลปะ และสุดท้ายเปลี่ยนหักแห มาทำงานกับเด็ก ก็คือการทำงานศิลปะเด็ก
จากความเป็นคนที่ขี้หงุดหงิด เวลาที่มีเด็กๆ ชอบเข้ามากวน เวลาทำงาน คอยซักไซ้ ถามโน่นถามนี่ มากเข้าๆ ครูยิ่งก็เริ่มรู้สึกว่า อยู่กับเด็กตอบคำถามเด็ก ก็เป็นเรื่องที่สนุกเหมือนกัน แล้วครูยิ่งก็ได้พบกรอบที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่บางข้อที่ว่า
เวลาเราทำงานกับผู้ใหญ่ เขาก็จะมีกรอบความคิดแบบผู้ใหญ่ แต่กรอบของเด็กกว้างมาก เราสามารถเข้าไปอยู่ เข้าไปค้นหา แล้วก็เอาสิ่งที่เด็กเป็น มาใส่ในงานของเราด้วย
ในห้องเรียนศิลปะของโรงเรียนอนุบาลร่มเย็น วิธีการสอนศิลปะของครูยิ่งมีอยู่ว่า
รูปแบบการสอนของผม ผมมองว่าผมไม่ได้เป็นครูผู้สอนอย่างเดียว ผมมองว่าผมเป็นนักเรียนด้วย เราแลกเปลี่ยนกัน เพราะว่า ผมคงไม่สามารถจะสอนเด็กทั้งหมด แต่ว่าเด็กจะสอนผมด้วย สอนให้ผมกล้า กล้าที่จะพูด กล้าที่จะพูดดังๆให้เด็กรู้เรื่อง พูดให้เด็กเข้าใจ เพราะบางทีพูดกับเด็กอนุบาลคือ เราพูดวิชาการเด็กๆ ไม่เข้าใจ เราต้องแปลคำศัพท์ให้เป็นปรากฏการณ์ ผมเชื่อย่างหนึ่งว่า ถ้าสอนเด็กอนุบาลเนี่ย เราต้องสอนด้วยปรากฏการณ์ แต่ถ้าสอนผู้ใหญ่ เราต้องสอนด้วยวิชาการ
การแปลคำศัพท์ให้เป็นปรากฏการณ์ของครูยิ่งเป็นอย่างไร หลายคนอาจสงสัย
วันหนึ่งเราพาเด็กไปดูผีเสื้อกัน ผีเสื้อทำไมมีสี เราเกิดตั้งคำถามขึ้นมา ทำไมเป็นสีแดง แล้วทำไมไม่มีสีขาว แล้วเด็กก็จะตอบกันครับ ตามความคิดของเขา พอถ้าเกิดคิด ก็จะได้เป็นคอนเซ็ปต์ขึ้นมา ส่วนเรื่องของการวาด เราสามารถพัฒนากันได้ แต่เราอยากให้เด็กเรียงความคิดก่อน มีความคิดว่า อ้อ...มันเป็นอย่างนี้นะ แล้วเรื่องเทคนิค เรามาฝึกกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวาดต่างๆ
ครูยิ่งเป็นชาวภาคกลางตอนบนภาคเมืองตอนล่าง เมืองสองแคว พิษณุโลก ขึ้นปีที่ 8 แล้วสำหรับการมาใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ทำงาน ทำกิจกรรมด้านศิลปะสร้างสรรค์สังคมร่วมกันกับกลุ่มเพื่อน ที่วันนี้รู้จักกันในนามกลุ่มศิลปะ อันได ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มธรรมชาติ เอ็นได และ 4 ปี กับการเป็นครูโรงเรียนอนุบาลร่มเย็น ซึ่งการงานอย่างหลังนี้ทำให้ครูยิ่งเข้าใจแล้วว่า ที่เขาว่า ความใสของเด็กนั้นมีอยู่ เป็นอย่างไร
ผมพบว่า เด็กมีความใส ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อหรอก เด็กจะใสเหรอ ไม่จริงหรอกตอนที่เขาบอก ซนจะตาย ไม่ใสหรอก พออยู่ไปนานๆ ผมก็เชื่อ เรื่องของศิลปะมีผล มันเหมือนเกิดความงามขึ้นมา ซึ่งผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ความงามมันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เรามีความรักต่อมัน พอเราเริ่มรักศิลปะแล้วเนี่ย ความงามก็จะเกิด เพราะตอนแรกผมทำงานคอมเมอร์เชียลอาร์ต งานพาณิชย์ศิลป์ พอมันเป็นศิลปะแล้ว มันมีความงาม มันมีความใส ซึ่งเราบอกกับใครก็ไม่ได้
ว่ามันเป็นใสอย่างนี้นะ แต่เรารับรู้ได้
|