หลังจากไหว้ครูแล้ว เมื่อจะเริ่มเรื่องราวในการแสดงหุ่นกระบอกมักจะเริ่มด้วย "เพลงหุ่น" เคล้าซออู้เสมอเพื่อให้หุ่นออกมาร้องรำบรรยายเรื่องราวความเป็นมาเช่น เพลงหุ่นในเรื่องพระอภัยมณีตอนหนีนางผีเสื้อ ที่ว่า
 
          "จะกล่าวกลับจับความไปตามเรื่อง ถึงบาทเบื้องปรเมศพระเชษฐา
องค์อภัยมณีศรีโสภา ตกยากอยู่คูหามาช้านาน
กับด้วยนางอสุรีนีรมิต เป็นบ่ชิดเชยชมสมสมาน
ต้องรักใคร่กันไปตามยามกันดาร จนนางมารเกิดบุตรบุรุษชาย ฯ"

เมื่อซออู้นำ และผู้ขับร้องเอื้อนก่อนจะเอ่ยกลอนแรกนั้นเรียกกันว่า "ร้องท้าว"การร้องท้าวนี้มีแตกแยกทางออกไปบ้างแล้วแต่ละสกุลช่าง แต่ก็จะอยู่ในครรลองเดียวกันเพื่อจะทอดไปสู่เนื้อความที่จะเริ่มกล่าวต่อไปทำนองเพลงร้องหุ่นกระบอกนี้ มีอยู่หลายทาง ทั้งในระหว่างบทกลอนที่เป็นเนื้อร้องก็ล้วนแต่มีจังหวะและช่องทางที่จะให้ผู้ร้องใส่ลูกเล่นเอื้อนเอ่ยไปได้ต่าง ๆ สุดแต่ความสามารถและไหวพริบปฏิภาณของผู้ร้องที่จะดูว่าบทบาทตอนนี้ควรจะร้องเอื้อนเอ่ยให้ไปในทางใด โกรธเกรี้ยว เศร้าสร้อย หรือว่าฮึกเหิมสนุกสนาน หากกำลังตกระกำลำเค็ญถึงที่สุด เช่นเมื่อพราหมณ์เกสรกำลังจะถูกนำไปฆ่า ก็จะมีการร้องเพลงหุ่นอีกทางหนึ่งเรียกว่า "ร้องครวญ"

          ครั้นถึงกลอนคำสุดท้าย อันเรียกว่า "ลง" เพลงหุ่นก็มี "ทางลง" อีกหลายทาง เช่น ลงโอด ลงเชิด ลงเจรจา ลงตลก ซึ่งเมื่อต้นเสียงทอดจะลงใกล้ท้ายคำอยู่แล้ว พวกลูกคู่ก็จะต้องคอยรับให้แน่นหนาพร้อมเพรียงทันท่วงทีจึงจะไพเราะหากลูกคู่รับบ้างไม่รับบ้างหรือความรู้ความสามารถไม่ทัดเทียมกัน รับกันไปคนละทางสองทางกระพร่องกระแพร่ง เพลงหุ่นนั้นๆก็จะไม่เป็นรสชาติอันใดเลย ในการร้องเพลงหุ่น เครื่องดนตรีจำเพาะก็มี ซออู้สีเคล้าไปตลอด ประกอบจังหวะด้วยกลอง ต๊อก แต๋ว ฉิ่ง กรับ เท่านั้น เครื่องดนตรีอื่นหยุดบรรเลงหมด ต่อเมื่อจะลง เช่น ลงโอด หรือลงเชิด ปี่พาทย์ก็จะคอยทำเพลงโอด หรือเพลงเชิดต่อท้ายไปตามเพลง แต่ก่อนผู้เชิดหุ่นที่เป็นสตรี มักจะร้องเพลงหุ่นไปด้วยพร้อม ๆ กันกับการเชิด เช่น แม่ครูเคลือบ แม่มิ่ง (ภรรยาของนายเปียก ประเสริฐกุล) และคุณครูชื้น สกุลแก้ว (บุตรีนายเปียก) โดยมีลูกคู่คอยรับ แต่เข้าใจว่าผู้เชิดคงจะร้องแต่เพลงที่เป็นเพลงหุ่นส่วนเพลงละคร เช่นเพลงช้าปี่ หรือเพลงร่ายจะมีต้นเสียงสตรีอีกต่างหากเป็นคนร้องและมีลูกคู่คอยรับไม่ปรากฏว่าในการเล่นหุ่นกระบอกแต่ก่อนจะมีผู้ขับร้องชายเป็นต้นเสียง ทั้งเพลงหุ่นและเพลงละครใช้ผู้หญิงร้องทั้งนั้น ลูกคู่ก็ใช้ผู้หญิง และตีกรับไปด้วยในตัวเสร็จหากเล่นกันสนุกสนานถึงอกถึงใจ ก็จะช่วยกันร้องรับลูกคู่ทั้งหญิงชายได้ทั้งโรงด้วยความสามัคคีปรองดอง มิใช่ต้นเสียงร้องเองรับเองอยู่คนเดียว

          ในเรื่องเพลงหุ่นนี้ มีข้อที่ยังไม่อาจยืนยันได้เป็นข้อยุติด้วยคนทั่วไปมักเข้าใจว่า "เพลงหุ่น" และ "เพลงสังขารา" เป็นเพลงเพลงเดียวกัน แต่นักดนตรีและผู้ขับร้องอาวุโสหลายท่านต่างอธิบายว่า "เพลงหุ่นกับเพลงลังขาราเป็นคนละเพลงกัน ถึงแม้จะเป็นเพลงที่เคล้าซออู้ และใช้ประกอบในการแสดงหุ่นกระบอก (หรือบางครั้งละคร) เหมือน ๆ กัน แต่เพลงสังขารามีทำนองแตกต่างออกไปจากเพลงหุ่นอีกทางหนึ่งเป็นคนละเพลง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ขับร้องและนักดนตรี การพากย์หุ่นนอกจากผู้เชิดจะร้องเพลงหุ่นเองแล้วยังจะพูดบทเจรจาต่าง ๆ แทนตัวหุ่นที่ตนกำลังเชิดอยู่อีกด้วยโดยไม่ต้องมีคนคอยพากย์แทน หากหุ่นตัวพระที่คนเชิดเป็นผู้หญิงก็จะพูดด้วยเสียงตนเชิดที่เป็นผู้หญิงนั้นเองดุจเดียวกับละครรำแต่ก่อน ที่ใช้ผู้หญิงแสดงเป็นตัวพระเอก จึงไม่ขัดหูขัดตาแต่ประการใด เว้นแต่ผู้เชิดที่เป็นผู้ชายมาจับเชิดหุ่นตัวนางพอถึงบทเจรจา ก็จะใช้ผู้หญิงพูดแทนเป็นตอน ๆ ไป ยกเว้น "นายเผื่อน" ผู้เป็นหลานนายเปียก ประเสริฐกุล และเป็นผู้เชิดหุ่นในคณะนายเปียกในสมัยแรก ๆ เล่ากันว่าสามารถเชิดตัวนาง และตัวพราหมณ์เกสรได้ชดช้อยงดงามมาก และยังสามารถดัดเสียงพูดบทเจรจาให้เป็นเสียงของตัวนางได้อีกด้วยในสมัยปัจจุบัน ก็มีหุ่นคณะชูเชิดชำนาญศิลป แห่งอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามของคุณครูวงษ์ รวมสุข ซึ่งเชิดและพากย์ตัวนางผีเสื้อสมุทรด้วยตัวเอง นางผีเสื้อคณะชูเชิดชำนาญศิลป จึงมีเสียงเป็นผู้ชายเช่นเดียวกับหุ่นคณะรอดศิริ นิลศิลป ของนายบุญรอด ประกอบนิล ที่เจ้าของคณะคือนายบุญรอด เชิดและพากย์หุ่นตัวนางผีเสื้อสมุทรด้วยตนเอง นางผีเสื้อคณะรอดศิริฯจึงมีเสียงเป็นผู้ชายเช่นเดียวกัน

ตลกหุ่น
          ตลกหุ่นดูเหมือนจะเป็นหัวใจของการแสดงหุ่นกระบอกที่ขาดไม่ได้ เพราะการแสดงตลกเป็นการแสดงที่จะต้องมีอยู่ในนาฏกรรมของไทยแทบทุกชนิด เช่น โขน หนังใหญ่ ละคร และลิเก เนื่องด้วยเป็นอุปนิสัยของคนไทยโดยทั่วไปที่ชอบตลกโปกฮา อุดมด้วยอารมณ์ขันอยู่แล้วเป็นปกติ การเล่นตลกของหุ่นกระบอก มักยึดแนวของการเล่นของพวกจำอวดและสวดคฤหัสถ์เป็นครู เพราะนักสวดและจำอวดได้จัดวางแนวทางเอาไว้เป็นอย่างดีแล้ว คือการจัดวางตำแหน่งของตัวบุคคลไว้ ตำแหน่ง ตามความจัดเจนของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการ"ปีนเกลียว"กัน หรือเล่น"ลอยดอก"จนออกนอกลู่นอกทางและนอกเรื่องจนเกินควร จนหาทางวกลงไม่ได้ อย่างที่เรียกว่า "พาช้า" คือพาให้เรื่องช้าไปอย่างไม่เข้าเรื่องตำแหน่งบุคคลทั้ง มีดังนี้
๑. ตัวตุ๊ย คือหน้าที่เล่นตลกโดยตรง ต้องมีปฏิภาณฉับไวในการตอบการแก้ที่หลักแหลมมีมุขตลกที่ทันเหตุการณ์ไม่ฝืดเฝือ ตัวตุ๊ยนี้ ถือเป็นตัวหลัก ขาดไม่ได้และมีมากไม่เกิน ๑ ตัว
๒. ตัวภาษา ทำหน้าที่เล่นตลกชิงไหวชิงพริบคู่กันไปกับตัวตุ๊ย โดยมากนิยมออกเป็นตัวนาง
๓. ตัวแม่คู่ ในการเล่นหุ่นกระบอก ก็มักได้แก่หุ่นตัวเอกหรือเจ้านาย เช่น นางยี่สุ่น นางผีเสื้อสมุทร หรือตาฤาษี ต้องฉลาดที่จะใช้มุขปูทางตลอด เพื่อให้ตัวตุ๊ย และตัวภาษาออกดอกออกก้านกลเม็ดตลกต่างๆได้ และทำหน้าที่คอยดึงให้เข้าเรื่องเพื่อไม่ให้เล่นตลกออกไปนอกทาง นางผีเสื้อสมุทร หรือตาฤาษี ต้องฉลาดที่จะตั้งมุขปูทางตลอดจนซักไซ้เพื่อให้ตัวตุ๊ยและตัวภาษาออกดอกออกก้านกลเม็ดตลกต่างๆ ได้ และทำหน้าที่คอยดึงให้เข้าเรื่องเพื่อไม่ให้เล่นตลกออกไปนอกทาง
๔. คอสอง ทำหน้าที่คอยช่วยแม่คู่ หรือคอยประสานคอยซักหรือยกสุภาษิตต่าง ๆ ตัวคอสองนี้ช่วยให้การเล่นตลกมีชีวิตชีวาขึ้น สำหรับการเล่นตลกนี้บางคณะก็เล่นสอดแทรกไปเกือบทุกตอนของเรื่อง แต่ที่ควรแล้วควรจัดให้อยู่ในตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องที่มีจังหวะเหมาะสมจะเล่นได้ เพราะการเล่นตลกพร่ำเพรื่อทำให้อรรถรสอื่น ๆ เสียไปดูจุ้นจ้านน่ารำคาญ

จังหวะการเล่นตลกของหุ่นกระบอก ที่มักเล่นกันถ้าเป็นเรื่องลักษณวงศ์ก็จะเล่นตอนนางยี่สุ่นปรึกษาหารือกับนางกำนัลจะทำอุบายกำจัดพราหมณ์เกสร หรือถ้าเป็นเรื่องพระอภัยมณีตอนหนีนางผีเสื้อก็มักเล่นตอนผีเสื้อเล่นกับผีพรายใช้ไห้ไปตามหาพระอภัย หรือตอนผีเสื้อทะเลาะกับพระฤาษีและพวกลูกศิษย์บนเกาะแก้ว การเล่นตลกมักจะมีบทเจรจายกสุภาษิตที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เช่น
          "ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน พออยู่ไปนานๆน้ำล้างหัวล้านก็ว่าขม"
หรือ  
          "แม้นแผ่นดินสิ้นชายที่พึงเชย มีผัวเป็นกะเทยจะดีกว่า"

 

หรือใช้บทเจรจาสัปดนสองง่ามสองแง่ หรือบางครั้งก็ว่ากันหยาบโลนตรงๆสุดแต่กลุ่มชนที่ดู สถานที่ และโอกาส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อสร้างความขบขันให้ถึงใจพระเดชพระคุณ มิได้มีเจตนาส่อในทางลามกอนาจารแต่อย่างใด

[หน้าก่อนหน้า]

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved