วงดนตรีหรือวงปี่พาทย์ ที่ใช้ประกอบการแสดงหุ่นกระบอก โดยมากนิยมปี่พาทย์เครื่องห้าเช่นเดียวกับการแสดงโขน ละคร

ปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วยเครื่องบรรเลงดังนี้
ปี่ (ใน)
ระนาด (เอก)
ฆ้องวง (ใหญ่)
ตะโพนกลองแขก
กลองทัด
 

ต่อมาในสมัยหลังได้เพิ่มระนาดทุ้มเข้าไปอีก เพื่อเป็นคู่ล้อคู่ขัดกับระนาดเอกในบางกรณีส่วนของพวกเครื่องหนังก็อาจจะเพิ่มเปิงมางเข้าไปเพื่อเป็นคู่เล่นกับตะโพน ส่วนเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ (อาจจะเป็นกรับพวง หรือกรับไม้ไผ่) จะต้องมีอยู่แล้วเป็นปรกติ ส่วนเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการแสดงหุ่นกระบอกที่จะขาดไม่ได้ก็คือ
๑. ซออู้ เป็นซอสองสาย กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวขนาดใหญ่ที่ต้องพิถีพิถันเลือกกะลาตาเดียว ถ้าจะให้รูปกะโหลกสวยงามต้องดัดแต่งมาตั้งแต่มะพร้าวยังไม่แก่ด้านหลังกะโหลกซอมักเป็นลายฉลุโปร่ง เพื่อให้เสียงซอดังกังวานไม่อับ คันชักทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหนียว เช่น ไม้ขิงชัน ไม้แดง สายคันชักทำด้วยหางม้าเหมือนเช่นซอทั่วไป ซออู้นี้มีเสียงทุ้มค่อนข้างเศร้าเหมาะแก่การสีเคล้าไปกับการร้องเพลงหุ่นเป็นอย่างยิ่ง
๒. กลองต๊อก เป็นกลองจีนขนาดเล็กมีสองหน้า หน้าใหญ่กว้างประมาณ ๘ นิ้ว หน้าเล็กกว้างประมาณ ๓ นิ้ว ใช้ไม้ตี ๒ อันมีขนาดเล็กยาวประมาณ ๑๐ นิ้ว ใช้ตีประกอบจังหวะไปพร้อมกับซออู้และการขับร้อง
๓. แต๋ว ทำด้วยทองบุหรือทองม้าก่อ มีลักษณะกลมแบนยกขอบเล็กน้อยเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ นิ้ว ใช้ถือตีด้วยไม้เล็กยาวประมาณ ๖-๗ นิ้ว ใช้ตีล้อตีขัดไปกับกลองต๊อก
 
นอกจากนี้ยังมี ม้าล่อ ล่อโก๊ะ หรือผ่าง ทำด้วยโลหะผสมพิเศษ มีลักษณะกลมแบนยกขอบ ประมาณหนึ่งนิ้ว มีขนาดเล็กสุดตั้งแต่ ๑๐ นิ้วขึ้นไป ตรงขอบเจาะรูสองรูร้อยเชือกสำหรับถือหรือแขวน ตีด้วยไม้หัวหุ้มนวมหรือไม้หัวแข็ง ใช้ตียืนจังหวะหรือเล่นสลับกับกลองจีน ในกรณีที่มีการรบพุ่ง หรือเล่นสนุกสนาน ทั้งม้าพ่อและกลองจีนนี้ไม่ใช่เครื่องดนตรีหลัก แต่อาจจะเพิ่มพิเศษขึ้นเฉพาะโอกาสหรือเรื่องราวทื่ออกทางภาษาจีน เช่น เรื่องพระอภัยมณีตอน ศึกเก้าทัพ เป็นต้น
 
ในการบรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงหุ่นกระบอก ก็เหมือนกับการแสดงละครทุกอย่าง กล่าวคือมีเพลงร้องสองชั้น ชั้นเดียว และเพลงร่าย และเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอาการ และบทบาทต่าง ๆ ของตัวหุ่น เช่น
- เพลงเข้าม่าน ประกอบการเดินเข้าฉากในระยะใกล้ๆ ของหุ่นตัวเอก
- เพลงเสมอ ประกอบการไปมาในระยะใกล้ๆ
- เพลงเชิด ประกอบการไป มาในระยะไกล ๆ และใช้ในการต่อสู้
- เพลงตระนิมิตร ประกอบการแปลงกายของตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก ๆ
- เพลงชุบ ประกอบการเดินของนางกำนัล เช่น เมื่อนางยี่สูนใช้นางกำนัลให้ไปตามพราหมณ์ ปี่พาทย์ก็จะทำเพลงชุบ
- เพลงโลม ประกอบการโลมเล้าเกี้ยวพาระหว่างตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก มักต่อด้วยเพลงตระนอน
- เพลงตระนอน  ใช้สำหรับหุ่นตัวเอกเมื่อจะเข้านอน โดยมาบรรเลงต่อจากเพลงโลม
เพลงโอด ประกอบการเศร้าโศกเสียใจ
- เพลงโล้ ประกอบการเดินทางทางน้ำ เช่น พระอภัยมณีโดยสารเรือสำเภาหรือเกาะหลังเงือกว่ายน้ำหนีผีเสื้อ
- เชิดฉิ่ง ประกอบการเดินทาง การเหาะ เช่น เบญจกายเหาะมายังเขาเหมติรันเพื่อแปลงเป็นสีดาลอยน้ำไปลวงพระราม หรือการติดตาม เช่น พระลอตามไก่ รามสูรตามนางเมขลา
- เชิดกลอง บรรเลงต่อจากเพลงเชิดฉิ่ง
- เพลงรัวต่างๆ ประกอบการแผลงอิทธิฤทธิ์ หรือแปลงตัวอย่างรวบรัด
- เพลงกราวนอก ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายมนุษย์
- เพลงกราวใน ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายยักษ์
- เพลงแผละ ประกอบการเดินทางทางอากาศ เช่น การบินมาของพญาครุฑ

เพลงที่มีลักษณะเป็นเพลงละครอย่างแท้จริง
๑. เพลงช้าปี่ ใช้บรรยายบทบาทหรืออากัปกิริยาของตัวละครตัวเอก เมื่อออกนั่งเมือง หรือสถานที่ใดที่หนึ่งในโอกาสที่ต้องการความสง่าผ่าเผย

          "เมื่อนั้น พระลักษณวงศ์ผู้ทรงศรี
ตั้งแต่ได้โฉมงามเจ้าพราหมณ์ชี ภูมีตรึกตรองเรื่องน้องยา ฯ"

๒. เพลงโอ้ปี่ โอ้ร่าย ใช้แสดงอาการคร่ำครวญเศร้าโศกของตัวละครตัวเอก เช่น พระไวยคร่ำครวญเมื่อพบเปรตนางวันทองในเพลงโอ้ปี่ที่ว่า

          "ทั้งรักทั้งสงสารรำคาญอก น้ำตาตกพร่างพรายทั้งซ้ายขวา
โอ้แม่วันทองของลูกยา เคยทำเวรมาไว้มากมาย ฯ"

๓. เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ชาตรี เพลงโอ้ เพลงฉิ่งสิงโตตัด เพลงโลมนอก เพลงโอ้โลม เพลงฉิ่ง เพลงเหล่านี้ใช้แสดงอาการเล้าโลมเกี้ยวพาราสีของตัวละครตัวเอก เช่น เมื่อเจ้าเงาะเกี้ยวนางรจนาในเพลงโอ้ชาตรีที่ว่า

          "น้องเอยน้องรัก ผิวพักตร์เพียงจันทร์อันทรงกลด
โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด อย่ากำสรดเศร้าหมองไม่ต้องการ ฯ"

๔. เพลงชมตลาด ใช้บรรยายความงดงามของตัวละคร เช่น ร้องชมร่างแปลงของนางวันทองเมื่อจะไปห้ามทัพพระไวย ดังนี้

          "นวลละอองผ่องศรีฉวีขาว เมื่อแรกรุ่นรูปราวกับนางห้าม
มวยกระหมวดกวดเกล้าเหมือนเจ้าพราหมณ์ ใส่สังวาลประจำยามอร่ามพราย ฯ"

๕. เพลงฉุยฉาย ใช้แสดงท่าทีเดินเยื้องย่างกรีดกรายด้วยความโอ่อวดของตัวละครเมื่อแปลงหรือแต่งกายได้สะสวยงดงาม เช่น เมื่อนางเบญจกายแปลงเป็นนางสีดาจะไปเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ดังบทร้องที่ว่า

          "ฉุยฉายเอย จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย ให้ละเมียดละม้ายสีดานงลักษณ์
ถึงพระรามเห็นทรามวัย จะฉงนพระทัยให้อะเหลื่ออะหลัก ฯ"

[หน้าถัดไป]

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved