หุ่นกระบอกทุกคณะจะมีพิธีกรรม ประเพณีและความเชื่อในการแสดงคล้ายกันเป็นส่วนมากและแตกต่างกันเป็นส่วนน้อย ตัวหุ่นที่สำคัญที่ทุกคณะหุ่นจะต้องมี คือ ตัวพระครูฤาษี หรือที่เรียกกันว่า "พ่อแก่" อันถือกันว่าคือ "พระภรต มหาฤาษี" บรมครูแห่งนาฏศิลป์ หุ่นพระครูฤาษี หรือพ่อแก่นี้จะต้องนำไปตั้งบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนทุกครั้งที่มีการแสดง หรือแม้ไม่มีการแสดง ก็มักจะบูชาไว้ในที่อันสมควร

การบูชาครูก่อนการแสดงหุ่น
          ก่อนการแสดงหุ่นกระบอกแต่ละครั้ง ตัวหุ่นพระครูฤาษีและหุ่นทุกตัวที่จะแสดงในวันนั้นจะถูกตั้งเสียบแกนไม้ไว้ทางขวามือของประตูขวาที่หุ่นจะออกอันเป็นที่ตั้งหุ่นประจำเป็นประเพณีครูอาวุโสหรือผู้ที่จะเป็นผู้เชิดตัวนายโรงรำช้าปี่ไหว้ครูจะจุดธูปเทียนบูชาคุณพระรัตนตรัยเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นก็จะสักการะเทพเจ้าอันถือว่าเป็นบรมครูแห่งศิลปะแห่งการแสดง และวิชาดนตรีอันมี
๑. พระอิศวร
๒. พระนารายณ์
๓. พระครูฤาษีทั้ง ๕ องค์ ได้แก่ พระฤาษีนารอท พระฤาษีนาไลย พระฤาษีตาไฟ พระฤาษีตาวัว พระฤาษีประไลยโกฎ
๔. พระพิฆเนศวร
๕. พระพิราบป่า
๖. พระครูทศกัณฐ์
๗. พระครูนายโรง
๘. พระครูเหน่ง
๙. พระแหน

ในบรรดาเทพเจ้าทางศิลปะเหล่านี้บ้างก็มีเพิ่มขึ้นอีก เช่น
๑. พระประโคนธรรพ (ท้าวธตรฎฐ์) อันเป็นเทพเจ้าแห่งการดนตรี ประโคนธรรพ แปลว่าผู้เป็นใหญ่แห่งคนธรรพ์ ถือว่าเป็นครูแห่งปี่พาทย์
๒. พระปัญจสีขร เป็นเทพเจ้าแห่งการดนตรี ถือว่าเป็นครูเครื่องสาย
๓. พระวิสสุกรรม อันเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิชาการช่างต่าง ๆ ได้แก่ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างหล่อ ช่างปั้น พระวิสสุกรรมนี้บางทีเรียกว่า "พระเพชฉลูกรรม"

เมื่อครูอาวุโสหรือผู้เชิดตัวนายโรง หรือหัวหน้าคณะจุดธูป ๓ ดอก ตั้งนะโม ๓ จบ ไหว้คุณพระศรีรัตนตรัย แล้วจึงจุดเทียน ๑ เล่ม ธูป ๙ ดอกสักการะชุมนุมเทวดา และครูบาอาจารย์ขอให้มาประสิทธิประสาทให้เล่นได้ดี เป็นที่นิยมแก่คนทั่วไป แล้วจึงปักธูป ในการบูชาครูนี้ ผู้แสดงหรือผู้เชิดหุ่นทุกคนจุดธูปคนละ ๑ ดอกร่วมบูชาครูด้วย
ครั้นตัวนายโรงจะออกรำช้าปี่ไหว้ครู ผู้เชิดตัวนายโรงจะนำหุ่นตัวเอกมาบริกรรมอีกครั้งก่อนจะออกฉาก ทั้งนี้เป็นคำบริกรรมเฉพาะบุคคล สรุปว่าให้การแสดงเป็นที่ติดตาต้องใจแก่คนทั่วไป และปราศจากอุปสรรคต่างๆ แล้วปี่พาทย์จึงจะลงวา ซออู้ - เสมอ - รัว แล้วร้องช้าปี่ เนื้อร้องเพลงช้าปี่ และปีนตลิ่งนอกอันใช้เป็นเพลงรำไหว้ครูหุ่นนี้ เชื่อกันว่าเป็นของเดิมที่ "ม.ร.ว.เถาะ" เป็นผู้แต่งขึ้น และคณะหุ่นกระบอกอื่น ๆ ทั้งที่ร่วมสมัยกับคุณเถาะและหลังจากคุณเถาะ ต่างก็นิยมใช้เนื้อร้องบทนี้ทุกคณะ บทร้องมีดังนี้
 
ร้องช้าปี่  
          "สิบนิ้วลูกจะยกขึ้นประนม ขอถวายบังคมเหนือเกศี
ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกีย์ โพยภัยอย่าได้มีมาบีฑา
ไหว้คุณบิดามารดร ครูพักอักษรทุกแหลิงหล้า
ไหว้ทั้งฝูงเทพเทวา ขอจงมาชูช่วยอำนวยชัย ฯ"
   
ร้องปีนตลิ่งนอก  
          "ทั้งตะวันนั้นก็ย่ำค่ำลงแล้ว รักเจ้าสาลิกาแก้วจะนอนไหน
มานอนด้วยเสียกับพี่จะดีใจ เหมือนดังได้ดอกฟ้าลงมาเชย
ชายชื่นรื่นรวยระทวยทอด ใครจะกอดอิงแอบแนบเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย ใครจะเชยชมชิดเมื่อนิทรา
ใครใครเขาก็มาด้วยกันหมด แม่ดอกประดู่ชูรสไม่เห็นหน้า
ทั้งหญิงชายยัดเยียดเบียดกันมา สัมมา สัมมา อย่าช้าที ฯ"

เนื้อร้องทำนองปีนตลิ่งนอกนี้ บางคำก็มีเพี้ยนไปบ้าง เช่น คำว่า "ชายชื่น..." หุ่นบางคณะร้องว่า "ฉุยฉายชื่น... " แต่สรุปรวมแล้วไม่มีคณะใดใช้ศำร้องและทำนองเพลงไหว้ครูที่แปลกไปกว่านี้ มาในสมัยหลัง การแสดงหุ่นกระบอกนิยมรวบรัดตัดทอนเพื่อความรวดเร็ว เพลงช้าปี่ จึงเหลือเพียง ๒ คำแรก และเป็นเพลงปีนตลิ่งนอกเสีย ๒ คำ คือตั้งแต่ "ไหว้คุณบิดามารดร" จนถึง "ขอจงมาชูช่วยอำนวยชัย" เท่านั้น เมื่อจบเพลงปีนตลิ่งนอก ปี่พาทย์จะทำเพลงรัวสามลาจนจบเพลง หุ่นรำเข้าฉากแล้วจึงจะเริ่มเรื่องต่อไป เท่าที่ปรากฏ ตัวรำไหว้ครูนี้มักใช้ตัวนายโรงหรือตัวพระเอกออกรำ ถือกันว่าทำให้คนดูติดอกติดใจนิยมชมชื่น ทั้งบทร้องและท่าทีร่ายรำอันมีเสน่ห์ล้วนแต่จะผูกใจผู้ดูผู้ชมไม่ให้ขยับเขยื้อนไปทางอื่น จึงถือกันว่าเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ มีหุ่นบางคณะ เช่น คณะเชิดชูชำนาญศิลปแห่งอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ให้ตัว พระ นาง และกุมาร คือ สินสมุทร ออกรำไหว้ครูพร้อม ๆ กันในบางโอกาส แต่ตัดทอนเพลงลงเหลือเพียงช้าปี่ ๒ คำ และปีนตลิ่งนอก ๒ คำ ตามแบบรวบรัดในสมัยปัจจุบัน

การบูชาครูของพวกดนตรีปี่พาทย์ก่อนการแสดงหุ่น
ก่อนการออกฉากขณะที่ทางผู้เชิดทำการสักการะบูชาครู ทางดนตรีปี่พาทย์ก็จะจุดธูป เทียน มีดอกไม้และเงินค่ากำนน ๖ บาท ใส่พานให้ผู้เป็นหัวหน้าวงจบพานอธิษฐานบูชาครูเช่นกัน เสร็จแล้วจึงนำดอกไม้และธูปเทียนเสียบข้างตะโพน ด้วยถือว่าตะโพนเป็นสัญลักษณ์ของพระประโคนธรรพเทพเจ้าแห่งการดนตรีประการหนึ่ง และตะโพนก็เป็นเครื่องกำกับจังหวะอันมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง เงินค่ากำนน ๖บาทนั้น ผู้เป็นหัวหน้าวงจะนำไปใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ครูบาอาจารย์ทางดนตรีต่อไป

พิธีบูชาครู
ที่บรรยายมานี้เป็นการไหว้ครูก่อนการแสดง ส่วนการไหว้ครูประจำปีหรือที่เรียกว่าไหว้ครูใหญ่นั้น มักทำกันในวันพฤหัสอันถือว่าเป็นวันครู สมัยก่อนผู้เป็นเจ้าของคณะหุ่น เช่น พระองค์สุทัศน์ฯ ม.ร. ว. เถาะ และจางวางต่อฯ นอกจากจะมีหุ่นกระบอกแล้วยังมี โขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์อยู่ในครอบครอง การไหว้ครูใหญ่อันเป็นพิธีประจำปีจึงรวมทั้งไหว้ครูโขนละครดนตรีปีพาทย์และหุ่นไปพร้อม ๆ กันในคราวเดียว มิใช่ไหว้แต่ครูหุ่นกระบอกเท่านั้นจึงนับว่าเป็นการใหญ่เอิกเกริกมาก แต่สำหรับคณะหุ่นที่มีแต่หุ่นไม่มีโขน ละคร ดนตรี ปี่พาทย์เช่น คณะนายเปียก ประเสริฐกุล จะมีพิธีบูชาครูหุ่นเฉย ๆ ไม่มีพิธี "ครอบ" เช่น โขน ละคร หากทำเป็นการใหญ่ก็มีการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันเช้า เป็นพิธีสงฆ์ เสร็จจากพิธีสงฆ์แล้วจึงจะเป็นพิธีบูชาครูต่าง ๆ ต่อไปหากไม่มีพิธีสงฆ์ ก็จะย้ายมาเป็นการบำเพ็ญกุศลใส่บาตรพระสงฆ์ ๙ รูปอุทิศส่วนกุศลนี้ถวายครูบาอาจารย์ แล้วจึงจะเป็นพิธีบูชาครูต่อไปเป็นอันดับรอง

พิธีบูชาครูนี้ต้องเตรียมเครื่องสังเวย อันได้แก่
๑. มัจฉมังสาหาร ๖ สิ่ง ได้แก่ หัวหมู เป็ด ไก่ ปูต้ม กุ้งต้ม ปลาแปะชะนึ่ง มัจฉมังสาหาร ๖ สิ่งนี้ รวมกันเป็น ๑ อย่าง
๒. เครื่องกระยาบวช อันได้แก่ของกินที่ปราศจากของสดคาว อันได้แก่ เผือกต้ม มันเทศต้ม กล้วยน้ำไท อ้อย มะพร้าวอ่อน ถั่วเขียวถั่วเหลืองดิบ งาดำงาขาวดิบ
๓.บายศรีปากชาม ๒ ที่
๔.ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง
๕. ขนมหวาน ๗ หรือ ๙ อย่าง เช่น ขนมเล็บมือนาง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ขนมชั้น ขนมหูช้าง วุ้นกะทิ ฯลฯ
๖. ผลไม้อื่น ๆ ๗ หรือ ๙ อย่าง
๗. นม เนย
๘. ข้าวรำ ๓ ก้อน (ปรุงโดยนำข้าวหน้าหม้อมาปั้นด้วยมือให้เป็นก้อนแบบข้าวตูแล้วคลุกถั่วดิบงาขาวงาดำดิบ แล้วราดด้วยน้ำผึ้ง)
๙. หมูดิบนอนตอง คือ หมู ๓ ชั้น ดิบ วางบนหางตองตานี แล้ววางบนจานอีกทีหนึ่งสำหรับสังเวยพระครูพระพิราพหากจะไหว้ครูพระพิราพ แต่ถ้าไม่ไหว้ก็ไม่ต้องมีหมูดิบ
๑๐. หมู ๓ ชั้นต้มนอนตอง
๑๑. เหล้าโรง

เครื่องบริโภคเหล่านี้ บางสิ่งก็ตัดทอนลงบ้างตามเหตุการณ์และความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพียงแต่ขอให้เป็น กล้วยอ้อย ขนมนมเนย เท่านั้น อนึ่งนอกจากของบูชาครูเหล่านี้แล้ว บางครั้งก็อาจจะมี "กุ้งพล่าปลายำ" ซึ่งไม่ใช่ของบูชาครู แต่เตรียมไว้สำหรับพวก "ตีนโรง - ตีนศาล" อันได้แก่ พวกอมนุษย์ ที่เป็นบริวารของแต่ละครูบาอาจารย์ นอกจากเครื่องบริโภคแล้ว ยังมีเครื่องอุปโภคอีกดังนี้
๑. ดอกไม้ ๗ สี ใส่พานและแจกันประดับบูชา (ปัจจุบันไม่ต้องถึง ๗ สี ก็ใช้ได้)
๒. ข้าวตอก ดอกไม้ (นิยมดอกมะลิหรือกุหลาบ) ๑ พาน
๓. ธูปหอม
๔. เทียนปิดทอง เทียนปิดเงิน อย่างละ ๑ เล่ม หนัก ๙ บาทบ้าง ๖ บาทบ้าง ๔ บาทบ้างแล้วแต่งบประมาณ พร้อมทั้งเทียนเล็กธรรมดา ใช้จุดบูชาทั่วไป
๕. พวงมาลัยสำหรับคล้องมือหุ่นกระบอก

เมื่อจะทำพิธีบูชาครู หัวหน้าจะจุดธูป ๓ ดอก ตั้งนะโม ๓ จบ ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และกล่าวคำสักการะดังนี้
 
          "พุทธะบูชามหาเตชะวันโต ธัมมะบูชามหาปัญญะวัณโณ
สังฆะบูชามหาโภคะวะโท ติโลกะเสฎฐัง อะภิปูชะยามิ"

แล้วจึงชุมนุมเทวดา
"สัคเคกาเม.. ฯลฯ"

ต่อจากนี้หัวหน้าจุดเทียนและธูป ๙ ดอก ผู้ร่วมคณะต่างจุดธูปคนละดอก ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวโองการเชิญครู ถวายเครื่องสักการะจนเสร็จพิธีอ่านโองการแล้วจึงนำธูปไปปักตามเครื่องสังเวยต่างๆที่ตั้งไว้ ในการนี้หากเป็นพิธีที่จัดอย่างใหญ่ มีดนตรีปี่พาทย์ อาจจะมีการเรียกหน้าพาทย์ คือการบรรเลงเพลงประกอบการมาของเทพหรือครูในฝ่ายต่าง ฯ แต่ถ้าหากเป็นพิธีธรรมดา ไม่มีดนตรีปี่พาทย์แล้ว ก็จะไม่มีการเรียกหน้าพาทย์

หลังจากปักธูปสังเวยพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทำการ "ลา" เครื่องเซ่นสังเวยโดยผู้ลาอธิษฐานว่า "เสลัง มังคะลา ยาจามิ" เป็นการถอนเครื่องเซ่นจากที่บูชาเพื่อนำมาเลี้ยงดูกันในตอนนี้ผู้ถอนเครื่องจะฉีกหางตองและแบ่งเครื่องสังเวยคาวหวานอย่างละนิดหน่อยพร้อมด้วยกุ้งพล่า ปลายำวางบนหางตอง นำไปวางไว้ตามริมประตู หรือตีนบันไดหรือโคนไม้ชายคา แล้วแต่สถานที่ เพื่อเซ่นพวกตีนโรง ตีนศาล ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการไหว้ครูหุ่นกระบอก ไม่เคยมีหลักฐานอันใดระบุว่าเคยมีการครอบครูหุ่น เช่นเดียวกับพิธีครอบของครูโขนครูละคร พิธีของหุ่นกระบอกเรียกว่า การ"ประสิทธิ์" กล่าวคือ ครูอาวุโส จับหุ่นพ่อแก่ส่งให้แก่ศิษย์ ครั้นศิษย์จับที่ไม้กระบอกลำตัวหุ่นและตะเกียบของพ่อแก่แล้ว ครูจะอุ้มประกบมือศิษย์ไว้ พร้อมกับกล่าวคำบริกรรม ประสิทธิ์ประสาทวิชาและให้ศีลให้พรแก่ศิษย์ ก็เป็นอันเสร็จการ ทั้งนี้ผู้เป็นศิษย์ต้องหัดเชิดหุ่นเป็นดีพอสมควรแล้ว ไม่ใช่ไม่เป็นเลยอีกประการหนึ่ง ศีรษะหุ่นแต่ก่อนโดยเฉพาะตัวเอก ๆ มักจะได้รับการ "เบิกพระเนตร" จากพระอาจารย์ที่มีอาคมขลัง ถือกันว่าหุ่นที่ได้รับการเบิกพระเนตรแล้ว เมื่อออกแสดงจะดูราวกับมีชีวิตชีวาเป็นที่ติดตาต้องใจของผู้ดูผู้ชม

อนึ่งหัวหุ่นที่สร้างขึ้นใหม่ ๆ ในสมัยหลัง เมื่อมีพิธีบูชาครูครั้งใด ก็ถือกันว่าควรจะนำมาตั้งเข้าพิธีด้วย เป็นการเบิกพระเนตรหุ่นทางอ้อมมิฉะนั้นหัวหุ่นก็เป็นเพียงหัวตุ๊กตาเฉย ๆ ประเพณีและความเชื่อบางประการในการแสดงหุ่นการแสดงหุ่นกระบอกแต่ก่อน มีประเพณีและข้อห้ามที่เคร่งครัดมากมาย อันเป็นความเชื่อถือที่สืบทอดกันต่อ ๆ มา เนื่องจากมหรสพในยุคนั้นมักจะเล่นประชันกันเสียเป็นส่วนมาก เช่น หุ่นกระบอกประชันกับโขน กับหนังตะลุง กับลิเก ฯลฯ ต่างชนิดต่างก็ชิงดีชิงเด่นแย่งคนดูกัน นอกจากจะแข่งฝีมือ และความคิดกันในด้านศิลปะการแสดงแล้ว ทางด้านคุณไสยต่างก็กระทำเพื่อหักล้างกันไปด้วย จึงมีข้อห้ามต่างๆเช่น มิให้คนในคณะลงจากโรงหุ่นในระหว่างการแสดง เพราะถ้าก้าวลงจากโรงหุ่นอันเป็นบริเวณที่มีครูบาอาจารย์คุ้มครองอยู่เมื่อใด ก็อาจจะถูกฝ่ายตรงข้ามกระทำเอาถึงกับเจ็บป่วยทุพพลภาพ เป็นต้น เมื่อจะนำตัวหุ่นเข้าโรงแสดง ในกรณีที่หุ่นไม่ได้ใส่หีบมาแต่แต่งตัวมาเสร็จหุ่นตัวแรกที่จะถือนำเข้าโรงแสดง คือหุ่นพระครูฤาษีหรือพ่อแก่ ต่อจากนั้นก็เป็นหุ่นพระ นาง และยักษ์ตามลำดับ ไม่นิยมนำหุ่นยักษ์เข้าบริเวณโรงก่อน ถือว่าทำให้ "ร้อน" ส่วนการนำหุ่นออกจากบริเวณโรงนั้นไม่ถือเป็นประเพณีเคร่งครัด การเข้าฉากออกฉากของตัวหุ่น ก็ถือเป็นประเพณีว่าหุ่นทุกตัว โดยเฉพาะตัวเอก เช่น ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง ทั้งหลาย จะต้องร่ายรำเยื้องกรายออกฉากเข้าฉากทางประตูเสมอ หุ่นจะไม่มีวันผลุบโผล่ขึ้นมาจากกระจกบังมือ หรือเวทีเป็นอันขาดนอกจากจะเป็นบทตลกเฉพาะตัว เช่น บทตาเงือก หรือยายเงือก เป็นต้น และหากขณะแสดง ถ้าศีรษะหุ่นตัวใดเกิดหลุดตกออกจากตัวหุ่นขณะกำลังร่ายรำทำบทบาท ถือกันว่าเป็นการ "คอขาด" เป็นอัปมงคลที่ไม่บังควรจะให้เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสะเพร่าบกพร่องของผู้จัดเตรียมแต่งตัวหุ่น อันเป็นการ "เอาดีไม่ได้" ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือกันหนักหนา

ตัวหุ่นทุกตัวตั้งแต่ตัวเอกจนถึงตัวประกอบตัวตลกตลอดจนเครื่องประกอบการแสดงทุกชนิด จะต้องระมัดระวังไม่มีการข้ามกรายเพราะถือว่าเปรียบเหมือนเป็นครูทั้งนั้น จะวางนอนทิ้งราบกับพื้นโรงหรือไว้ในที่ต่ำไม่ได้ จะต้องตั้งเสียบอยู่บนแกนเสมอและหันหน้าออกสู่คน ไม่ตั้งหันหน้าหันหลังให้ลักลั่นกัน ตัวตลกที่มีคนติดมาก ๆ ถึงกับเมื่อออกประตูมา แม้ยังไม่ได้พูด คนดูก็ฮาด้วยลักษณะพิเศษต่าง ๆ ของหัวหุ่น เช่น หัวล้าน หัวแบน หัวแกละ หรือไว้หางเปีย เป็นต้น เช่น
อาเหยก ไว้หางเปียเป็นเจ๊กพูดไทยไม่ชัด เป็นตลกมีชื่อประจำตัวของนายเปียก ประเสริฐกุล
ไอ้แกละ เป็นตัวตลกเด็ก สมมุติเป็นลูกอาเหยก
นายฉุย-นายเฉื่อย เป็นตัวตลกไว้ผมทรงหลักแจว
ไอ้โหนก เป็นตัวตลกทำหน้าผากให้ไหนกเป็นลักษณะพิเศษ
ไอ้แบน เป็นตัวตลกหัวแบน ฯลฯ

           ตัวตลกเหล่านี้ แม้เป็นเพียงตัวตลกมิใช่ตัวเอก แต่ก็ถือว่าเป็นตัวครูทั้งสิ้น แต่ก่อนหัวหุ่นและตัวหุ่นจะแยกกันเก็บ ต่อเมื่อรับงานจะแสดงจึงจะแต่งตัว ถือกันว่าหัวยักษ์ หัวลิง จะต้องแยกกันเก็บเสมอไม่ปะปนกัน หรือไม่ก็มีหัวพ่อแก่คั่นกลาง ส่วนพวกหัวพระหัวนางไว้อกทางหนึ่ง หัวพวกตัวตลกอีกทางหนึ่ง ต่อมาสมัยหลังประเพณีนี้ไม่ถือกันเคร่งครัดแล้วคงวางปะปนกันตามสบาย อีกประการหนึ่งเรื่องราวที่ใช้แสดงหุ่นกระบอก ถือกันนักหนาว่าตัวเอกจะไม่มีการตายในตอนจบ อันถือว่าเป็นการตายคาโรง หรือ "ล้มทับโรง" เช่น เรื่องลักษณวงศ์ตอนฆ่าพราหมณ์ ที่นิยมเล่นกันเป็นหุ่นกระบอก เมื่อพราหมณ์เกสรถูกตัดคอแล้ว จะไม่มีคณะใดยอมจบในตอนนั้น แต่จะแสดงต่อจนถึงพระพรหมเหาะมานำศพพราหมณ์เกสรขึ้นไปชุบให้ฟื้นบนสวรรค์วิมานจงจะจบการแสดง ความเชื่ออันนี้ มิใช่ถือกันแต่การแสดงหุ่นกระบอกเท่านั้น แต่รวมไปถึงการแสดงโขน ละคร ลิเก และมหรสพเกือบทุกชนิด ด้วยถือว่าไม่เป็นสิริมงคลแก่ผู้แสดงหนึ่ง และเป็นอัปมงคลแก่เจ้าภาพผู้หางานไปแสดงอีกหนึ่ง แต่อีกนัยหนึ่งถือกันว่าหากคณะใดให้ตัวเอกของเรื่องล้มทับโรงเสียแล้วก็เท่ากับเป็นการ "ตัดทาง" ของคณะอื่นที่จะแสดงต่อไปในเรื่องเดียวกันให้อับเฉาไปโดยปริยายเนื่องจากตัวเอกได้ "ตาย" เสียแล้ว หากคณะอื่นจะมาเล่นซ้ำในเรื่องเดิม ก็จะไม่ได้รับความนิยมยินดีเท่าที่ควรจึงเป็นมารยาทของการแสดงที่จะเอื้อให้แก่ผู้ร่วมอาชีพ อันถือเป็นประเพณีสืบมา

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved