เรื่องที่หุ่นกระบอกนิยมแสดงก็คือ เรื่องที่ละครก็นิยมแสดงนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่งเรื่องใดที่นำมาเล่นละครได้ หุ่นกระบอกก็นำมาเล่นได้ ทั้งนี้เว้นแต่เรื่องละครในซึ่งก็มือยู่เพียง ๒ เรื่อง คือ
๑. อิเหนา
๒. อุณรุฑ (ยกเว้นหุ่นของพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอนุสรศิริประสาธน์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ)

ละครในดำเนินเรื่องช้ามีบทร้องและการบรรเลงที่จงใจจะสำแดงความงดงามในการร่ายรำของตัวละครอันไม่เหมาะสมกับหุ่น ซึ่งทำท่าไม่ได้มากและต้องการจะดำเนินเรื่องให้รวดเร็วสนุกสนานอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของหุ่นกระบอก

เรื่องและตอนที่หุ่นกระบอกแต่ก่อนนิยมแสดง มีดังนี้
๑. พระอภัยมณี นิยมเล่นตอน ๑) หนีผีเสื้อ ๒) ศึกเจ้าละมาน ๓) ศึกเก้าทัพ (หากมีคนเชิดดี ๆ มากพอที่จะเล่นได้) ๔)หลงรูปละเวง
๒. ลักษณวงศ์ นิยมเล่นตอน ๑) ประหารลักษณวงศ์กับนางสุวรรณอำภา ๒) ยุขันพาพราหมณ์เข้าถวายตัว ๓) ยี่สุ่นขึ้นหึง - ฆ่าพราหมณ์
๓. คาวี นิยมเล่นตอน ๑) สันนุราชชุบตัว - คันธมาลีขึ้นหึง
๔. สุวรรณหงส์ นิยมเล่นตอน ๑) กุมภณฑ์ถวายม้า ๒) ชมเขาเพชร
๕. ไชยเชษฐ์ นิยมเล่นตอน ๑) ขับนางสุวิญชา ๒) นางแมวเย้ยซุ้ม
๖. ไกรทอง นิยมเล่นตอน ๑) ชาละวันสั่งถ้ำ (คือเมื่อชาละวันคาบนางตะเภาทองลงน้ำ และไกรทองจุดเทียนชนวนลงไปปราบชาละวัน) ๒) พ้อล่าง พ้อบน (หรือตะเภาแก้ว ตะเภาทองขึ้นหึงนางวิมาลา)
๗. ขุนช้าง-ขุนแผน นิยมเล่นตอน ๑) วันทองห้ามทัพ - พระไวยยก (หรือพระไวยแตกทัพ) ๒) จับเถรขวาด ๓) จับเสน่ห์สร้อยฟ้า
๘. วงศ์สวรรค์ - จันทวาส นิยมเล่นตอน ๑) ตรีสุริยา - จินดาสมุทร พี่น้องรบกัน ๒) จินดาสมุทรหนีแม่
๙. พระปิ่นทอง (แก้วหน้าม้า) นิยมเล่นตอน ๑) แก้วหน้าม้าถวายลูก ๒) ลูกแก้วหน้าม้า

นอกจากนี้ยังมีเรื่องนิทานคำกลอนเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่ "โรงพิมพ์วัดเกาะ" พิมพ์ออกจำหน่าย และคนนิยมอ่านกันจึงมีผู้นำมาดัดแปลงสำหรับหุ่นกระบอก หรือบางครั้งลิเกก็นิยมนำไปเล่น เช่น
๑. ศรนรินทร์
๒. สุริยัน
๓. ลิ้นทอง
๔. มาลัยทอง
๕. โกมินทร์

เรื่องละครนอกจากนี้เช่นเรื่อง มณีพิชัย ไชยทัต สังข์ศิลปไชย พระรถ-เมรี มโนห์รา ซึ่งเป็นเรื่องละครที่เล่นกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏว่าหุ่นกระบอกนำมาเล่นหรือจะเล่นบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ก็คงจะเป็นที่นิยมน้อยกว่าเรื่องที่ยกมาตั้งแต่ต้น แต่ปรากฏว่าหุ่นใหญ่หรือหุ่นหลวงกลับนิยมเล่นเรื่องละครที่เล่นมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าเช่น เรื่องไชยทัต พระรถ - เมรี สังข์ศิลปไชย เป็นต้น ดังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่๔ เขียนด้วยช่างภาคกลาง แต่ลงไปเขียนที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จังหวัดสงขลา เขียนเป็นรูปการแสดงมหรสพหุ่นแต่เป็นหุ่นมีแขนมีขาเช่นหุ่นใหญ่ มิใช่หุ่นกระบอก เล่นในงานสมโภชพระมหาชนก เป็นหุ่นตัวพระผิวกายขาวกำลังไล่ตามกวางทอง สันนิษฐานว่าเล่นเรื่อง "ไชยทัต" เมื่อเสด็จพระพาสป่า แล้วยักษ์คือท้าวกุเวรแปลงเป็นกวางทองมาล่อให้พระไชยทัตไล่ตามเพื่อจะจับกินเป็นภักษาหาร ฯลฯ เรื่องตัวพระตามกวางแล้วไปกลายเป็นยักษ์นี้ นอกจากเรื่องไชยทัตก็มีเรื่องลักษณวงศ์อีกเรื่องหนึ่งแต่เข้าใจว่าเรื่องvลักษณวงศ์จะนิยมเล่นเป็นหุ่นกระบอกในสมัยต่อมามากกว่าที่จะเล่นเป็นหุ่นใหญ่ เพราะถึงแม้สุนทรภู่จะแต่งเรื่องลักษณวงศ์ก่อนเรื่องพระอภัยมณี แต่ก็ไม่อาจหาหลักฐานได้ว่าในสมัยของสุนทรภู่เอง เรื่องลักษณวงศ์นี้จะเป็นที่นิยมถึงขนาดเอามาเล่นเป็นหุ่น(ใหญ่)แล้วหรือยัง อย่างไรก็ตามเรื่องลักษณวงศ์ที่นิยมนำมาเล่นเป็นหุ่นกระบอกนี้ นอกจากสำนวนกลอนของสุนทรภู่ที่แต่งตั้งแต่ต้นไปจนทำศพพราหมณ์เกสรแล้ว ยังมีอีก ๒ สำนวนแต่งเป็นกลอนบทละคร สำนวนหนึ่งไม่ทราบว่าผู้ใดแต่งและแต่งเมื่อใด มีตั้งแต่ต้นไปจนถึงชั้นลูกของลักษณวงศ์ และนางเกสร สำนวนที่ ๒ แต่งโดย ขุนจบพลรักษ์ (ทิม สุขยางค์) ผู้แต่งบทละครให้แก่ละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ บทละครเรื่องลักษณวงศ์สำนวนขุนจบพลรักษ์นี้แต่งตั้งแต่ต้นจนถึงชั้นลูกของลักษณวงศ์และนางเกสรเช่นเดียวกัน เว้นแต่ตอนยุขันพาพราหมณ์เข้าเฝ้าถึงยี่สุ่นขื้นหึง จนกระทั่งฆ่าพราหมณ์เกสร ขุนจบฯเว้นเสียไม่แต่งเอาไว้เข้าใจว่ากลอนบทละครสำนวนเก่าอันเดิมในตอนนี้ อันเป็นตอนที่ละคร และหุ่นกระบอกนิยมเอามาเล่น คงจะเป็นที่นิยมคุ้นเคยของคนทั่วไปอยู่แล้ว เรื่องลักษณวงศ์ตอนที่หุ่นกระบอกนิยมเล่นกันมาก ก็เห็นจะเป็นโดยใช้สำนวนกลอนบทละครของเก่าที่ไม่ทราบผู้แต่งนี้ปนกับบทกลอนของสุนทรภู่บางตอน

เรื่องที่นิยมเล่นเป็นหุ่นกระบอกมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็เห็นจะได้แก่เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่เพราะบทกลอนเรื่องพระอภัยมณี เป็นเรื่องที่ติดอกติดใจของคนทั่วไป ทั้งเนื้อเรื่องก็รวดเร็วทันอกทันใจคนดูเหมาะแก่การนำมาแสดงเป็นหุ่นกระบอก นิทานคำกลอนของสุนทรภู่ทุกเรื่อง เช่น เรื่องลักษณวงศ์ สิงหไกรภพ พระอภัยมณี ขึ้นบทกลอนด้วยตัวละครทันทีเลยทีเดียว เช่น บทกลอนจากเรื่องพระอภัยมณีที่ว่า
          "ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม ปลอบประโลมลูกชายฉะผายผัน
จึงหยิบปี่ที่เป่าเมื่อคราวนั้น เอาผ้าพันผูกดีแล้วลีลาฯ"

หรือบทกลอนจากลักษณวงศ์ที่ว่า
 

          "ปางเยาวยอดยี่สุ่นมเหสี แสนทวีทุกข์ทนกมลไหม้
พงศ์กระษัตริย์ภัสดาไม่อาลัย ตั้งแต่ได้พราหมณ์มาก็ราโรย ฯ"

ทั้งนี้กลอนของสุนทรภู่ไม่ขึ้นต้นว่า "เมื่อนั้น" หรือ "บัดนี้"ไม่มีการชมรถ ชมม้า ชมช้างหรือการอาบน้ำลงสรงแต่งตัวของตัวละครให้ยืดเยื้อจึงเป็นการถูกใจ "ตลาด"ในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากบทกลอนและบทละครที่กล่าวมาแล้ว บางครั้งเจ้าของคณะหุ่นก็แต่งบทสำหรับเล่นหุ่นขึ้นเองโดยเฉพาะ เช่น บทหุ่นกระบอกเรื่อง "สิงห์สุริยวงศ์" ที่พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร ทรงนิพนธ์เอาไว้สำหรับเล่นหุ่นของพระองค์เอง เป็นต้น หุ่นเล่นเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องรามเกียรติ์ เป็นเรื่องที่ใช้เล่นโขน แต่หุ่นกระบอกทุกคณะแต่ก่อนกี่นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากศีรษะหุ่นกระบอกของทุกคณะที่ยังเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบันจะมีศีรษะยักษ์ ลิง และตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์อยู่ครบครัน ตัวเอกบางตัวมีถึง ๒ ศีรษะ เช่นคณะหุ่นจางวางต่อ ณ ป้อมเพชร มีหัวหนุมาน ๒ หัว มีหัวทศกัณฐ์ทั้งหน้าเขียวและหน้าทองอย่างละหัว นอกจากนี้ก็ยังมีหัวสหัสเดชะ หัวสัทธาสูร พระราม - พระลักษณ์หน้าทอง และหัวลิงยอด -ลิงโล้น ยักษ์ยอด - ยักษ์โล้นอีกมากมาย

หุ่นคณะจางวางทั่วพาทยโกศล

เป็นอีกคณะหนึ่งที่มีหัวหุ่นเรื่องรามเกียรติ์อยู่ทั้งชุดรวมทั้งเสื้อหุ่นที่ปักดิ้นเลื่อมเป็นลายก้นหอยสำหรับหุ่นตัวลิง โดยเฉพาะอีกหลายตัวด้วยศีรษะหุ่นกระบอกที่เป็นสมบัติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อันไม่ปรากฏที่มาว่าเป็นของคณะใด ก็มีเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหัวยักษ์ หัวลิงอยู่หนึ่งตู้ใหญ่ มีทศกัณฐ์หน้าทอง ไมยราพณ์ สุครีพ นิลพัท ฯลฯ นับว่าเป็นศีรษะหุ่นที่สวยงามสร้างด้วยฝีมือช่างที่สูงมากชุดหนึ่ง นอกจากนี้คณะหุ่นที่ไม่ปรากฏศีรษะหุ่นหลงเหลืออยู่เช่น หุ่นพระองค์สุทัศน์ฯ หุ่นนายเบี้ยว หุ่นนายวิง ก็ล้วนแต่ได้รับการยืนยันจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ และได้เคยเห็นการแสดงหุ่นกระบอกของคณะเหล่านี้แต่ครั้งกระโน้น ว่าล้วนแสดงเรื่องรามเกียรติ์ได้ทั้งสิ้น ตอนที่นิยมแสดงก็มีดังนี้
๑. ตอนสามทหารยก (พระรามใช้ไห้ ชมพูพาน หนุมาน องคต สืบมรรคาไปลงกา)
๒. นางลอย
๓. ท้าวมาลีวราชว่าความ
๔. สีดาหาย พระรามตามกวาง
๕. จองถนน
 
และตอนอื่น ๆ ที่โขนนิยมเล่น ก็เชื่อว่าหุ่นกระบอกนำมาเล่นได้ทั้งสิ้น คณะหุ่นกระบอกที่ไม่แสดงเรื่องรามเกียรติ์มีอยู่คณะเดียว คือคณะนายเปียก ประเสริฐกุล ด้วยนายเปียกถือว่าการแสดงโขนมีเพลงหน้าพาทย์มาก หุ่นกระบอกทำท่าได้ไม่มากเท่าคนจริง ๆทั้งยังต้องใช้คนเชิดเยอะ จึงเว้นการแสดงเรื่องรามเกียรติ์เสีย เล่นแต่เรื่องละครที่มีการดำเนินเรื่องร้องรำรวดเร็วฉับไว ถึงกระนั้นศีรษะหุ่นของคณะนายเปียกแม้จะไม่เล่นเรื่องรามเกียรติ์แต่ก็มีหัวยักษ์ - ลิงอยู่ครบครัน เช่น หัวหนุมานถึง ๒ หัว หัวทศกัณฐ์หน้าทอง อินทรชิต สุครีพ องคต และอื่น ๆ อีกมาก การที่หุ่นกระบอกคณะอื่น ๆ

          แต่ก่อนสามารถเล่นหุ่นกระบอกเรื่องรามเกียรติได้เนื่องจากเจ้าของคณะหุ่นกระบอกต่างก็เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์หรือไม่ก็เป็นเจ้านายที่มีฐานะมีบริวาร และมักจะมีโขนละครดนตรีปี่พาทย์อยู่ในครอบครองอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการเหลือวิสัยที่จะให้หุ่นกระบอกเล่นเรื่องใหญ่ ๆ เช่นเรื่องรามเกียรติ์ได้ อนึ่งการที่หุ่นเล่นเรื่องรามเกียรติ์ก็คงจะเล่นอย่างที่หุ่นเล่น มิใช่จะเล่นอย่างโขน สิ่งใดที่คนทำไม่ได้แต่หุ่นสามารถจะทำได้สะดวกเพราะหุ่นตัวเล็กการชักรอกเหาะเหินเดินอากาศแผลงอิทธิฤทธิ์อภินิหารตลอดจนการยกทัพรบราต่าง ๆ ที่คนชอบดู หุ่นย่อมมีกลวิธีอันแยบคายที่จะทำสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้ได้

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved