หุ่นละครเล็กเคลื่อนไหวได้เพราะคนเชิดซึ่งต้องมีความชำนาญมาก หุ่นบางตัวคือ ตัวพระ ยักษ์ และลิงต้องใช้คนเชิดถึง ๓ คน ตัวนางใช้คนเชิด 2๒ คน ส่วนตัวตลกใช้คนเชิดเพียงคนเดียว ในการเชิดหุ่นตัวหนึ่งผู้เชิดจะต้องแบ่งหน้าที่กัน และจะต้องร่วมงานกันอย่างดีเยี่ยม คนที่หนึ่งจะเป็นหลักในการเชิด โดยสอดมือข้างซ้ายเข้าไปอยู่ในลำตัวละครเล็กเพื่อจับเดือยซึ่งเป็นก้านคอให้ตัวหุ่นกลอกหน้าหรือยักคอได้ ส่วนมือขวาต้องจับก้านเหล็ก (มือขวาของตัวหุ่น) ซึ่งมีลูกรอกติดอยู่เพื่อบังคับให้มือหุ่นเคลื่อนไหวได้ คนที่สองต้องใช้มือขวาของตนจับก้านเหล็กมือซ้ายของหุ่น เวลาเชิดก็ต้องทำท่าทางสัมพันธ์กับมือขวาด้วย ส่วนคนที่สามต้องใช้มือสองข้างจับเดือยที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของตัวหุ่น เพื่อคอยยกเท้า เปลี่ยนเท้า ซอยเท้า โดยต้องให้สัมพันธ์กับท่ารำ เทคนิคการเชิด เช่น การกล่อมตัว จังหวะ ฯลฯ ต้องใช้ความชำนาญ และประสบการณ์ของผู้เชิด
 

เรื่องที่ใช้แสดงละครเล็กมักเป็นเรื่องจักรๆวงศ์ๆ เช่น พระอภัยมณี สังข์ทอง ลักษณวงศ์ แก้วหน้าม้า โสนน้อยเรือนงาม ฯลฯ และแสดงเรื่องรามเกียรติ์ด้วย เรื่องที่นิยมที่สุดคือเรื่องพระอภัยมณี เรื่องอื่นๆก็เล่นบ้างแต่น้อย บางทีเล่นเป็นตอนสั้นๆ เช่น สังข์ทอง จับตอนเจ้าเงาะกับนางรจนา บทร้องใช้บทตามวรรณคดี นายแกรแต่งเติมเองบ้าง มีต้นเสียง และลูกคู่ร้องรับ มีการบอกบทเช่นเดียวกับละครนอก เครื่องดนตรีใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าหรือเครื่องคู่ก็ได้ ไม่มีซออู้แบบหุ่นกระบอก ใช้เพลงสองชั้น และร่ายเป็นพื้น คนเชิดเป็นคนเจรจา ถ้าหุ่นนั้นมีคนเชิดหลายคนก็ผลัดกันเจรจาก็ได้
 
ฉากของละครเล็กแบ่งเป็น ๓ ตอน ตรงกลางทำเป็นฉากท้องฟ้าหรือทิวทัศน์ ส่วนซ้ายและขวาหักมุมเข้าไปทางข้างหลังโรง ทางซ้ายมือผู้ชมทำเป็นฉากป่า ขวามือเป็นฉากปราสาทราชมณเฑียร ฉากแต่ละส่วนมีประตู ๒ ประตูรวมทั้งหมดมี ๖ ประตูสำหรับให้หุ่นเข้าออก

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved