มีหลักฐานที่พอจะอ้างอิงเกี่ยวกับลักษณะฉาก และโรงหุ่นหลวงอยู่ ๒ ประการ ดังนี้
๑. จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่แสดงให้เห็นการเล่นหุ่นหลวงในงานมหรสพต่างๆ
๒. จากหมายรับสั่ง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ "หมายรับสั่ง" คือ คำสั่งในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนมากเกิดขึ้นโดยพระราชกรณียกิจ ๒ ประการ คือ เมื่อจะเสด็จประพาสประการหนึ่ง หรือเมื่อจะทรงประกอบพระราชพิธีต่างๆอีกประการหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะรับพระบรมราชโองการหรือรับสั่งไปทำจดหมาย เพื่อรับหน้าที่ปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย คำสั่งปฏิบัตินั้นเรียกกันมาในสมัยโบราณว่า "หมายรับสั่ง"

จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง 
จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนแสดงให้เห็นการแสดงหุ่นหลวง ได้แก่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนไว้อันเป็นฝีมือช่างเขียนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ เท่าที่พบมีที่วัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ วัดโสมนัสวรวิหาร วัดมัชฌิมาวาส (จ.สงขลา) วัดพระแก้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ เขียนแสดงการละเล่นหุ่นหลวงในงานสมโภช และงานศพ เรื่องราวในภาพนั้นแสดงให้เห็นทั้งโรง และฉากของหุ่นหลวงอันพอจะสรุปได้ดังนี้
ฉาก เขียนเป็นเขาพระสุเมรุ มีวิมานอยู่บนยอดเขาหลังหนึ่งตรงกลาง และมีวิมานอยู่บนยอดเขาซ้ายขวาลดหลั่นลงมาอีกข้างละหลัง รวมทั้งหมดสามหลัง ตรงกลางฉากส่วนล่างที่ตรงกับวิมานหลังกลาง มีคล้ายๆกุฎีโผล่ออกมาจากช่องเขาตรงกลางหนึ่งหลัง กุฎีนี้ไม่ทราบว่าเขียนบนฉากหรือสร้างยื่นออกมาจากฉากจริงๆ ทั้งหมดนี้เขียนบนพื้นสีเข้มจัด มีเมฆอยู่ประปรายระหว่างวิมานอันเป็นส่วนบนของฉาก ภาพจิตรกรรมที่วัดมัชฌิมาวาสจะเขียนเป็นพระอาทิตย์ และพระจันทร์อยู่ข้างๆวิมานด้วย ประตูสำหรับหุ่นเข้าออกมีสองประตู อยู่ค่อนไปทางริมโรงทั้งสองด้าน มีม่านแหวกสีแดง บางโรงเขียนเป็นกำแพงมีใบเสมาต่อเป็นแนวเดียวกับประตูที่ว่านี้ สำหรับเวทีของหุ่นเป็นแผงที่มีขนาดสูงท่วมศีรษะคนเชิด เพื่อบังไม่ให้คนดูเห็นคนเชิด ให้เห็นแต่ตัวหุ่นที่คนเชิดยกชูโผล่พ้นขอบเวทีปรากฏอยู่หน้าฉาก ที่สุดกำแพงเมืองทั้งสองด้านทำเป็นกำแพงเมืองยื่นออกมาเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีใบเสมาสี่เหลี่ยมเหมือนใบเสมาตามป้อมกำแพงพระบรมมหาราชวัง บนป้อมกำแพงนี้ ด้านขวามือของคนดูทำเป็นปราสาทมียอดตั้งอยู่ ส่วนทางด้านซ้ายมือของคนดูจะทำเป็นพลับพลาไม่มียอดตั้งอยู่ สันนิษฐานว่าหุ่นหลวงแต่ก่อนคงนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์กันมาก จึงทำฉากอย่างโขนหน้าจอหรือโขนนั่งราว คือ ทางขวามือของคนดูเป็น "ฝ่ายลงกา" ของทศกัณฐ์ และทางซ้ายมือของคนดูเป็น "ฝ่ายพลับพลา" ของพระราม

จากหมายรับสั่ง

ในหมายรับสั่งสมัยกรุงธนบุรี จ.ศ. ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) ทางด้านขวาของภาพระทา (เรือนสำหรับจุดดอกไม้ไฟที่อยู่บนหอสูง) มีคำอธิบายขนาดของโรงโขนระหว่างระทา และโรงโขนใหญ่ว่า "โรงโขนวางรธาขื่อกว้าง ๘ ศอก ตงยาว ๑๐ ศอก โรงโขนใหญ่ กว้าง ๔ วา ยาว ๗ วา สูง พื้น ๒ ศอก สูงเดี่ยว ๓ วา" ฉะนั้นโรงหุ่นระหว่างระทา และโรงหุ่นใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรีก็น่าจะมีขนาดกว้างยาวใกล้เคียงกัน ในสมัยรัตนโกสินทร์ การมหรสพต่างๆได้มีการเล่นที่พิสดารออกไป เช่น มีการเล่นตัวชักรอก หรือเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ฉะนั้นโรงโขนหุ่นก็ย่อมมีขนาดกว้างยาวมากกว่าเดิม โรงโขนใหญ่สมัยกรุงธนบุรีกว้างเพียง ๔ วา ยาว ๗ วา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โรงโขนยาว ๑๒ วา สันนิษฐานว่าโรงหุ่นสมัยกรุงธนบุรียาวประมาณ ๗ วา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โรงหุ่นยาว ๑๑ วา สังเกตได้ว่าโรงโขนโรงหุ่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่มีพาไลรอบเหมือนโรงละคร และโรงละครชาตรี  

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved