โรงหุ่นแต่ก่อนผู้เป็นเจ้าภาพหาหุ่นไปแสดงจะเป็นคนปลูกสร้างเอาไว้รับการแสดงของคณะหุ่นพอคณะหุ่นไปถึงก็แขวนฉากและติดตั้งอุปกรณ์การแสดงต่าง ๆ ได้ทันที โดยมีกฎเกณฑ์กว้าง ๆ ดังนี้
๑. สูงจากพื้นดินประมาณช่วงตัวคน เพื่อให้คนยืนดูก็ได้นั่งดูก็ได้ ไม่บังกันและไม่รบกวนตัวหุ่นที่กำลังแสดง
๒. ความยาวหน้าโรงประมาณ ๓ วา ๒ ศอก (๗ เมตร) ซึ่งเป็นขนาดความยาวของโรงหุ่นแต่ก่อนถือเป็นสูตรตายตัว
๓. ความสูงจากพื้นโรงถึงหลังคาโรงหุ่น ประมาณ ๓.๕๐ เมตร
๔. ความลึกจากหน้าโรงถึงหลังโรง อันเป็นที่นั่งของคนเชิดรวมทั้งดนตรีปี่พาทย์และคนขับร้องและสัมภาระต่าง ๆ ไม่ควรน้อยกว่า ๕ เมตร จากภาพจิตรกรรมฝาผนังและภาพถ่ายเก่า ๆ ของโรงมหรสพตามช่องระทาในงานสมโภช และงานพระเมรุต่าง ๆ จะเห็นว่าโรงมหรสพเหล่านั้นสร้างด้วยหลังคามุงจากหรือไม่ก็มุงแฝกหรือคามีช่อฟ้าอยู่ยอดจั่วทั้งสองข้างมีปีกนกยื่นออกมาตลอดความยาวของหน้าโรงเพื่อป้องกันแดดลมหรือฝน มีเสาไม้ไผ่ปักจากดินรองรับปีกนกนี้ประมาณ ๖ เสา

ฉากหุ่นกระบอก

ฉากหุ่นกระบอกมีเขียนบนผ้าเป็นรูปปราสาทราชวังด้วยสีฝุ่นฉากผ้านี้มักมี ๕ ชิ้นห้อยต่อกันเป็นผืนเดียวลงมาจากด้านบนโรง แต่ลอยสูงจากพื้นโรงที่นั่งเชิด ๑ ศอก หรือ ๕๐ เซนติเมตรสำหรับให้คนเชิดลอดมือออกมาจับหุ่นให้เชิดอยู่หน้าฉากได้สะดวก และส่วนล่างสุดของฉากที่เขียนเป็นปราสาทราชวังนี้ จะเขียนเป็นกำแพงเมืองมีใบเสมาไป ตลอดความยาวของฉาก กำแพงนี้สูง ๑ ศอก หรือ ๕๐ เซนติเมตร ทำด้วยผ้าโปร่งหรือบางคณะทำด้วยมู่ลี่ เพื่อให้คนเชิดซึ่งนั่งเชิดกับพื้นและอยู่หลังผ้าโปร่งอันนี้มองเห็นตัวหุ่นที่กำลังเชิดได้ถนัด หน้าฉากกำแพงเมืองนี้ จะมีเวทีหรือ "กระจกบังมือ" เป็นภาพเขียนแบบจิตรกรรมประเพณีปิดทองตัดเส้น เขียนเป็นเรื่องที่ชอบใช้เล่นเป็นหุ่นนั่นเอง เช่น ลักษณวงศ์ สุวรรณหงส์ ใส่กรอบติดกระจกตั้งเรียงรายติดต่อกันประมาณ ๗ ภาพแต่ละภาพมีขนาดสูง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๖๐ เซนติเมตร สำหรับบังไม่ให้คนดูเห็นมือคนเชิดที่ลอดออกมาใต้ฉากกระจกบังมือนี้ตั้งห่างออกมาข้างหน้าฉากประมาณ ๑ ศอก หรือ ๕๐ เซนติเมตร หรือกว่านี้เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวของตัวหุ่น

          ถัดจากกระจกบังมือออกไปทั้งสองด้านจะทำเป็นกำแพงไม้มีใบเสมากั้นต่อจากกระจกบังมือออกไปจนสุดริมโรงแต่ละด้าน ประตูสำหรับหุ่นเข้าออกจะมี ๔ ประตู อยู่ด้านริมโรง ๒ ประตู และอยู่ด้านในอีก ๒ ประตู ประตูด้านในนี้เป็นประตูที่หุ่นใช้เข้าออกมากที่สุด เนื้อที่อันเป็นกำแพงผ้าโปร่งระหว่างประตูทั้งสองนี้ยาว ๒ เมตรครึ่ง ส่วนประตูที่อยู่ริมโรงอีก ๒ ประตู มักไม่ค่อยได้ใช้นอกจากในกรณีที่มีตัวหุ่นออกมามาก ๆ เช่น กระบวนทัพ หรือกระบวนแห่ศพพราหมณ์เกสร เป็นต้น ประตูหุ่นนี้นิยมทำเป็นประตูซุ้มเรือนแก้ว ขนาดของช่องประตูสูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตรกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร มีม่านแหวกปักดิ้นเลื่อมบ้าง หรือปิดลายกระดาษทองน้ำตะโกบ้าง นอกจากนี้ก็มีสิ่งตกแต่งอื่น ๆ เช่น ผ้าม่าน หรือผ้าระบายห้อยข้างบนตลอดความยาวของโรงอันล้วนวิจิตรพิสดารด้วยการปักไหมทองเป็นลายแบบจีน หรือไม่ก็เป็นลายกระดาษทองน้ำตะโก ผ้าระบายนี้บางคณะมีถึงสองผืน คือห้อยปิดส่วนบนของฉากผืนหนึ่ง และถัดออกมาระยะเดียวกับเสาค้ำยันโรงอีกผืนหนึ่ง ด้านหลังหรือต้านในของโรงหุ่นจะปิดทั้งสามด้านเพื่อมิให้ลมตีฉาก และเพื่อมิให้คนดูแลเห็นคนเชิด คนปี่พาทย์ คนขับร้องและลูกคู่บางทีอาจจะมีหน้าต่างอยู่ด้านข้างโรงและมีประตูอยู่ด้านหลังพร้อมด้วยบันไดสำหรับคนในคณะหุ่นขึ้นลง

เครื่องประกอบฉากในการแสดงหุ่น
          เครื่องประดับฉากหุ่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการแสดงหุ่น เพราะถึงแม้หุ่นจะร่ายรำทำท่าไม่ได้มากเหมือนละครที่ใช้คนจริงๆแสดง แต่สิ่งที่ทำให้คนนิยมชมชื่นหุ่นกระบอกก็คือเครื่องประกอบฉากที่ทำได้เหมือนจริงทุกอย่าง เพียงแต่ย่อสัดส่วนลงให้เหมาะสมกับหุ่นตัวเล็กๆ เช่น เรือสำเภาทั้งลำ ราชรถ พระราชยานุมาศ พระโกศ ฯลฯ ซึ่งละครไม่สามารถทำให้เห็นเป็นจริงเป็นจังได้สะดวกเท่ากับหุ่น ทั้งหุ่นกระบอกแต่ก่อนก็อยู่ในอุปถัมภ์ของเจ้านายผู้มีบรรดาศักดิและฐานะอุดมด้วยบริวารอันเป็นช่างฝีมือสูงที่ล้วนแต่จะบันดาลความวิจิตรพิสดารให้แก่หุ่นได้ไม่เป็นการเหลือวิสัย และถึงแม้เจ้าของคณะหุ่นที่เป็นเอกชนธรรมดา ก็ไม่ย่อท้อที่จะประชันขันแข่งกันในด้านความคิดและฝีมือกันอย่างสุดกำลัง ยกตัวอย่างเช่น การแสดงหุ่นกระบอกเรื่องลักษณวงศ์ ตอน "ฆ่าพราหมณ์" หุ่นคณะนายวิงมีราชรถเชิญพระโกศทองแห่ศพพราหมณ์เกสรเข้ากระบวนมีกลองชนะ ปี่ไฉน ฯลฯ หุ่นของพระองค์สุทัศน์ฯ ก็สร้างพระราชยานุมาศสามคานให้เชิญโกศทองมีเทวดาสวมพอก ๒ องค์นั่งประคองโกศไปด้วย จนกระทั่งเชิญพระโกศขึ้นสู่บัลลังก์ราชรถมีกระบวนแห่ขบวนใหญ่ประกอบด้วยอภิรุมชุมสาย บังสูรย์ บังแทรก และจามร ทั้งกลองชนะปี่ไฉนและแตรสังข์ ประโคมสลับกัน กล่าวคือทำให้เหมือนกระบวนแห่พระศพเจ้านายจริงๆทุกประการ ครั้นกระบวนแห่ผ่านหน้าฉากไปแล้ว ฉากกลางที่ห้อยอยู่ระหว่างประตูทั้งสองก็จะม้วนขึ้น เผยให้เห็นฉากในมีพระโกศตั้งบนแท่นมีเครื่องสักการะพุ่มเงินพุ่มทอง มีเทียนประทีปและสิ่งตกแต่งต่าง ๆ หุ่นกระบอกคณะนายเปียกฯ ก็ทำฉากตอนนี้ให้ม้วนขึ้นและเผยให้เห็นฉากพระโกศตั้งทั้งเครื่องสักการบูชาเช่นเดียวกับหุ่นพระองค์สุทัศน์ฯเหมือนกัน หรือเมื่อพระลักษณวงศ์ได้มาคร่ำครวญ

          "...เปิดพระโกศมิ่งมิตรพิศพักตร์ โศกสลักทรวงในฤาทัยหมอง..."

          แล้วหุ่นคณะนายเปียกฯยังมีพระพรหมเหาะลงมาเปิดพระโกศนำศพพราหมณ์เกสรเหาะขึ้นสวรรค์ไปด้วยกันอีก นอกจากนี้ ในโอกาสที่จะต้องใช้ฟืนไฟ หุ่นก็นิยมใช้ไฟจุดกันจริง ๆ เครื่องเล่นประกอบเพื่อความสนุกสนาน เช่น ดอกไม้ไฟ ปะทัด ลูกหนู ตะไล นกกระจิบกระจอก ตลอดจนการชักรอกเหาะในเดินอากาศ แปลงตัวเป็นตัวใหญ่ตัวเล็ก การหายตัว การตัดคอมีเลือดพุ่งขึ้นมาเหล่านี้ หุ่นสามารถทำได้สนิทแนบเนียน เข้ากับสภาพความเป็นหุ่นได้ดีกว่าโขนละคร ซึ่งมุ่งแสดงออกทางศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น ในสมัยหนึ่งที่คนนิยมดูหุ่นกันมาก ก็เป็นด้วยเครื่องประกอบฉากเหล่านี้เป็นเครื่อง ดึงดูดอันสำคัญ ที่จะสร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน หรือเพื่อประกาศความมีศิลปะพลิกแพลงที่เหนือ กว่ากันในระหว่างคณะหุ่นต่าง ๆ และในระหว่างคณะหุ่นกับมหรสพชนิดอื่นทีเดียว

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved