หลังจากที่ทรงสร้างหุ่นจีนขึ้นแล้ว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดให้สร้างหุ่นไทยเรื่อง "รามเกียรติ์" ขึ้นชุดหนึ่ง มีกลไกคล้ายหุ่นหลวงแต่ย่อขนาดลงให้สูงประมาณ ๑ ฟุตเท่าหุ่นจีน ลักษณะหุ่นมีหน้าตา แขนขาครบ เคลื่อนไหวได้ทั้งหัว ข้อมือ ข้อศอก และขา มีก้านไม้เสียบทะลุตัวหุ่นลงมาข้างล่าง ภายในตัวหุ่นมีแกนเหล็กประกบกับไม้เป็นเครื่องให้ขยับหัว และลำตัว มีเชือก ๑๖ เส้นร้อยต่อจากอวัยวะส่วนต่างๆลงมาที่แผ่นไม้เล็กๆซึ่งเจาะรูไว้ ๑๖ รู แล้วมาคล้องกับห่วงวงแหวนสำหรับสอดนิ้วสวมเวลาเชิด การเชิดใช้คนเชิด ๑ คนต่อหุ่น ๑ ตัว

        หุ่นไทยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขณะนี้มีจำนวน ๕๑ รายการ (๕๓ ตัว คือมี ๒ รายการเป็นหุ่นวานร ๒ตัวขับเกวียน และมีวัว ๒ ตัวเทียมเกวียน) ชนิดของหุ่นมีทั้งเป็นไม้ และผ้า มีหุ่นอยู่ตัวหนึ่ง มือทั้งสองข้างถือหางนกยูง เครื่องแต่งกาย และศีรษะหุ่นเป็นแบบผู้แสดงประเลง (ประเลงเป็นการแสดงเบิกโรงของละครไทยถือกันว่าเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร ปัดรังควานหรือสิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำให้เกิดอุปสรรคกับการแสดง สันนิษฐานกันว่าลีลาท่าทางของการแสดงประเลงประดิษฐ์ขึ้นจากการปัดกวาดทำความสะอาดโรงของนายโรง)

ลักษณะหุ่นไทย  

         หุ่นไทยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนี้ เป็นเรื่อง "รามเกียรติ์" ทั้งหมด มีทั้งพลยักษ์ พลลิง ตัวพระ ตัวนาง ตัวกางกลด(กางร่ม) และยักษ์ลิงที่ขี่ม้า แต่อีกหลายตัวเป็นม้าที่ไม่มีคนขี่ เช่นม้าอุปการ หรือที่เป็นตัวเหาะก็ทำเป็นหุ่นตัวนางทำท่าเหาะเหมือนอย่างท่าเหาะในภาพจิตรกรรมไทยประเพณี ตัวหุ่นทั้งหมดทำด้วยไม้เนื้อเบา แกะเหลาเป็นรูปร่างคนตั้งแต่อกลงมาจนถึงสะโพก ส่วนเอวเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนหุ่นหลวง มีแขน ๓ ส่วน คือ จากต้นแขนถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง จากข้อศอกถึงปลายข้อมือส่วนหนึ่ง และฝ่ามืออีกส่วนหนึ่ง นิ้วมือของหุ่นนี้กระดิกไม่ได้เหมือนหุ่นหลวง แต่ทำนิ้วติดกันเหมือนมือที่กำลังตั้งวงรำ กระดกได้ทั้งมือ ส่วนขามี ๒ ส่วน คือ จากต้นขาถึงเข่าส่วนหนึ่ง และจากเข่าถึงปลายเท้าอีกส่วนหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำด้วยไม้เนื้อเบาที่เหลาแกะให้เป็นรูปร่างแล้วจึงเจาะเป็นรูตลอดลำ เพื่อร้อยเชือกเส้นเล็กๆสำหรับบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว สายชักทั้งหมดจะรวมกันออกที่ก้นของหุ่น มีไม้เป็นแกนเสียบเข้าไปทางก้นหุ่นสำหรับจับเชิด ๑ คัน และมีแกนไม้อันเล็กๆสำหรับเสียบคอหุ่น บังคับให้หันไปหันมาได้อยู่ข้างๆอีก ๑ คัน ที่แกนไม้อันแรกมีแป้นติดไว้เป็นโลหะหรือไม้แบนๆชิ้นเล็กๆเจาะรูไว้ ๑๖ รู สำหรับเสียบแกนคอ และสายชักทุกสายให้ลงมาผ่านแป้นที่เจาะรูไว้ โดยปลายสายทุกสายจะมีห่วงวงแหวนขนาดนิ้วคนสอดเข้าไปในห่วงเพื่อชักเชิดให้หุ่นเคลื่อนไหว ทั้งแกนไม้และสายชักทั้งหมดนี้จะมีผ้าดำบางเย็บเป็นปลอกคลุมตลอดทั้งอันเพื่อบังสายตาคนไม่ให้เห็นกลไกในการเชิดหุ่น

         ศีรษะหุ่นทุกตัวจะมีน้ำหนักเบามาก คงแกะด้วยไม้เนื้อเบาเช่นเดียวกับตัวหุ่น ลวดลายกระจัง และเครื่องประดับศีรษะ เช่น ชฎา และจอนหูล้วนเป็นอันเล็กๆ ปิดทองประดับกระจกเกรียบอันเล็กๆ หน้ายักษ์ หน้าลิง หน้าพระ จะเขียนสีมีเส้นทองฮ่ออย่างหัวโขน แต่ไม่ได้ทำสวมศีรษะแบบหัวโขน หากทำสีไปตามพงศ์ทั้งตัว คือ เขียนสีมาถึงคอ มือ และขาของตัวหุ่น ส่วนหน้าพระ หน้านางที่เป็นหน้ามนุษย์ ไม่ได้เขียนเส้นฮ่ออย่างหน้าพระนางของหัวโขนหรือหุ่นหลวง แต่ทำผิวสีนวลจันทร์ (สีจันทร์อ่อน) แล้วเขียนสีเป็นเส้นคิ้ว เส้นตา และปากด้วยสีบางๆ ล้อด้วยเส้นทองเส้นเล็กๆ

          เครื่องแต่งกายของหุ่นนี้ปักด้วยเลื่อมเงินเลื่อมทองขนาดเล็ก จุกด้วยลูกปัดแก้วสี และมีไหมทองตรึงเป็นลวดลายล้อมไปรอบๆเลื่อมอยู่ตามชายไหว ชายแครง ผ้ารัดสะเอว สนับเพลา และผ้าห่มนาง ที่น่าสังเกตคือจะมีแถบ “นมสาว” ขนาดเล็กทำด้วยแผ่นเงินพับขัดกันไปมาตรึงล้อไปตามขอบของชายไหว ชายแครง อินทรธนู และเครื่องแต่งกายแทบทุกชิ้น โดยไม่ปรากฏว่าจะใช้ดิ้นโปร่งอย่างที่ใช้ปักชุดโขนละครจริงๆใช้เลย

การชักเชิดหุ่นของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนี้ จากการสันนิษฐานคาดว่าผู้เชิดคงต้องชูหุ่นเหล่านี้ไว้เหนือศีรษะ เพราะแกนไม้ที่เสียบหุ่นมีขนาดยาว และแป้นที่เจาะรูก็คงอยู่ระดับสายตาผู้เชิด จะได้บังคับสายที่ร้อยผ่านรูของแป้นให้หุ่นเคลื่อนไหวได้ดังใจ โดยคงจะเชิดคนหนึ่งต่อหุ่น ๑ ตัวเพราะกลไกต่างๆก็สามารถทำให้หุ่นขยับได้ทั้งตัวอยู่แล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานอันใดได้บันทึกไว้ว่าหุ่นไทยของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้เคยแสดงกี่ครั้ง และเนื่องในโอกาสใดบ้าง อาจจะสร้างขึ้นแล้วยังไม่เคยนำออกแสดงเลยก็เป็นได้ เนื่องจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญได้เสด็จทิวงคตเสียก่อนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙
 

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved