หุ่นจีนที่แสดงอยู่ในเมืองไทยมีมาก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักฐานที่แสดงว่ามีการแสดงหุ่นจีนมาก่อนที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจะทรงสร้างหุ่นจีนของพระองค์เอง อย่างน้อยก็ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี กลอนอ่านเรื่อง ”ปาจิตตกุมาร” และกาพย์(กลอนสวด) เรื่อง”พระสุธน” ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งในสมัยใกล้เคียงกันได้กล่าวถึงการแสดงหุ่นจีนเป็นการมหรสพด้วย

          สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็มีการเล่นหุ่นจีนเช่นกัน และนิยมประชันกับหุ่นไทยหรือหุ่นชาติอื่นๆเหมือนในสมัยกรุงธนบุรี ดังที่พระชำนิโวหารกล่าวถึงมหรสพสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไว้ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตอนหนึ่งว่า “ หุ่นไทยปชันหุ่นงิ้ว จีนเขียน หน้านา” หุ่นจีนนี้บางทีก็เล่นตามช่องระทา (บริเวณว่างระหว่างหอคอยที่ตั้งไว้เพื่อจุดดอกไม้เพลิง) พระราชนิพนธ์ “อิเหนา” ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึงหุ่นจีนตามช่องระทาเป็นมหรสพอย่างหนึ่งในตอนอภิเษกอิเหนา และราชบุตรราชธิดาสี่นคร แสดงว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น มีหุ่นจีนเป็นมหรสพอย่างหนึ่งด้วย

          ในรัชกาลต่อมามีหลักฐานมาโดยตลอดว่าหุ่นจีนเป็นมหรสพที่นิยมกันในงานต่างๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับมีการเก็บภาษีการแสดงหุ่นจีนเท่ากับหุ่นไทยคือเล่นวันหนึ่งเสียภาษี ๑ บาท หลักฐานต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าก่อนที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจะโปรดให้สร้างหุ่นจีนขึ้นนั้น หุ่นจีนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมาแล้ว จึงอาจเป็นแรงบันดาลพระทัยให้ทรงสร้างหุ่นจีนเป็นของพระองค์เอง

          หุ่นจีนที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดให้สร้างขึ้นนั้น เป็นหุ่นผ้าสูง ๑ ฟุตเศษ เท่าที่เหลืออยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีจำนวน ๑๓๗ ตัว แต่ละตัวมีความสูงไม่เท่ากัน ตัวที่เล็กที่สุดสูง ๒๓ ซ.ม. ที่ใหญ่ที่สุดสูง ๔๔.๑ ซ.ม. ส่วนใหญ่เป็นหุ่นผู้ชาย มีหุ่นผู้หญิงเพียง ๕ ตัว หุ่นพวกนี้แต่งตัวเหมือนงิ้วสวมเสื้อผ้ายาวถึงเท้า คงจะเหมือนกับหุ่นจีนที่มีมาก่อน หุ่นจีนนี้เสื้อผ้าสีสันต่างๆ เครื่องแต่งกายบ่งถึงฐานะของหุ่น มีฮ่องเต้ ขุนนาง นักรบ คนสามัญ ตัวตลก ฯลฯ ตัวที่สูงศักดิ์มีเสื้อผ้าประณีต ลวดลายละเอียดงดงามมีเครื่องประดับ พวกนักรบถืออาวุธต่างๆ เช่น ดาบ ขวาน ตัวตลกนั้นบางตัวหัวเราะจนเห็นฟัน เสื้อผ้าสีน้ำเงินขาว ไม่มีเครื่องประดับ ใบหน้าของหุ่นมีแตกต่างกัน บางตัวเขียนหน้าแบบงิ้ว บางตัวเป็นหน้าคนธรรมดา บางตัวมีหัวเป็นเสือ ควาย ช้าง หมู หรือมีปากเป็นนก นัยน์ตาหุ่นจีนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนี้กลอกไปมาไม่ได้

          กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงพระราชนิพนธ์บทเล่นหุ่นด้วย เป็นเรื่องจีนแต่บทเป็นภาษาไทย เท่าที่มีนำมาตีพิมพ์มีเรื่อง “ซวยงัก“ ตอนกิมงิดตุดตีเมืองลูอันจิวแตก เล็กเต็งเชือดคอตาย และเรื่องเบ็ดเตล็ด ตอนหลวงจีนเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง การแสดงหุ่นจีนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้นเจรจาภาษาไทยเป็นส่วนใหญ่ และเจรจาภาษาจีนแทรกเป็นระยะๆ เมื่อพิจารณาจากหน้าตาของหุ่นตัวอื่นๆแล้ว เข้าใจว่าเรื่องที่เล่นคงมีอีกหลายเรื่อง และคงเป็นเรื่องที่ใช้แสดงงิ้วนั่นเอง ส่วนดนตรีที่ใช้ประกอบคงเป็นแบบงิ้ว แต่อาจไม่ใช้มากเพราะเล่นเจรจาเป็นพื้น

ลักษณะหุ่นจีน
          หุ่นจีนของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนี้เป็นหุ่นจีนแบบ “ฮกเกี้ยน” อันเป็นหุ่นที่ใช้มือของผู้เชิดสอดเข้าไปในตัวหุ่น แล้วใช้นิ้วของผู้เชิดสอดเข้าไปบังคับคอหุ่น และมือหุ่นทั้งสองข้างให้เคลื่อนไหวทำบทบาทต่างๆได้ หุ่นจีนเหล่านี้ไม่ทราบว่าสร้างด้วยช่างฝีมือจีน (ที่พำนักอยู่ในเมืองไทย) หรือฝีมือช่างไทยล้วน แต่อาจมีฝีมือของช่างทั้งสองประเภทร่วมกันสร้างก็เป็นได้ เพราะดูจากลักษณะเครื่องแต่งกายของหุ่นแล้ว ช่างต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องราว ตำแหน่ง วรรณะ ตลอดจนลักษณะการแต่งกายของตัวละครในวรรณกรรมจีนเป็นอย่างดี

          การปักเย็บเครื่องแต่งกาย ปักด้วยไหมทองตรึงเป็นลวดลายอันวิจิตรประณีต เป็นลายมังกรบ้าง ลายคลื่นบ้าง แซมด้วยไหมสีต่างๆ ไม่มีการปักด้วยดิ้นโปร่งเงินหรือทองอย่างที่ชุดของโขนละครใช้ ส่วนเลื่อมขนาดเล็กมีใช้บ้างประปราย เครื่องประดับศีรษะประดับลวดลายด้วยรักตีลาย ปิดทอง และประดับกระจกเกรียบเช่นเดียวกับหุ่นไทย เพียงแต่มีลวดลายออกไปทางจีนเท่านั้น

          นอกจากนี้ หุ่นชนิดนี้ยังมีขาโผล่ออกมาจากชายเสื้อด้านล่าง ซึ่งใช้นิ้วบังคับให้ขาเคลื่อนไหวได้ในบางบทบาท มือหุ่นทำด้วยไม้แกะเป็นมือ มีนิ้วสี่นิ้วที่กระดิกพับได้พร้อมๆกัน คือนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ส่วนนิ้วโป้งกางอยู่เฉยๆ นอกจากมือที่กำอาวุธจะเป็นมือถาวรกระดุกกระดิกไม่ได้
 

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved