ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทยเท่าที่มีหลักฐานอ้างอิงได้ จากลายพระหัตถ์ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จ ที่ถูกควรเขียนว่า"สารสมเด็จ"- จากความเห็นของ Webmaster) ซึ่งกล่าวถึง "นายเหน่ง คนขี้ยา อาศัยวัด อยู่เมืองสุโขทัย จำหุ่นไหหลำมาดัดแปลงเป็นหุ่นไทย และออกเชิดร้องเล่นหากิน" จนต่อมา ม.ร.ว.เถาะ พยัคฆเสนา ผู้เคยได้ตามเสด็จกรมพระยาดำรงฯไปเห็นหุ่นกระบอกที่เมืองอุตรดิตถ์จึงได้กลับมาสร้างหุ่น และตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นเป็นคณะแรกในกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ ในรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
อย่างไรก็ตามเมื่อท่านอาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ได้จัดการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณีตอนหนีนางผีเสื้อ ณ.โรงละครแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘ และได้อิงลายพระหัตถ์จากหนังสือดังกล่าว ไว้ในสูจิบัตรประกอบการแสดง ก็ได้มีลูกหลานที่เป็นทายาทของนายเหน่ง ได้ขอเข้าพบท่านอาจารย์เพื่อชี้แจงยืนยันว่า บรรพบุรุษ คือ"นายเหน่ง"หรือ "ครูเหน่ง" ไม่ได้เป็นคนขี้ยาตามหลักฐานอ้างอิง ที่บอกเล่ากันมา และครูเหน่งก็ไม่ได้เป็นคนสุโขทัย หากแต่เป็นคนนครสวรรค์สำหรับ ม.ร.ว.เถาะ ผู้ริเริ่มหุ่นกระบอกเป็นคณะแรกในกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น เชื่อกันว่าก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีคณะหุ่นคณะอื่นกำเนิดขึ้นในกรุงเทพฯก่อนคณะของม.ร.ว.เถาะ เลย ทั้งๆที่ตามหัวเมืองต่างๆก็มีการเล่นหุ่นกระบอกกันแพร่หลายแล้วมิฉะนั้นคงไม่แพร่จากเมืองสุโขทัยมาจนถึงเมืองอุตรดิตถ์อัน ม.ร.ว.เถาะ ได้ไป เห็นและจดจำมาในครั้งนั้น หรือจะมีคณะหุ่นกระบอกอื่นใดในกรุงเทพฯที่ถือกำเนิดมาก่อนคณะของ ม.ร.ว.เถาะก็ยังไม่มีหลักฐานอันใด ทว่าจากคำบอกเล่าที่ว่าหุ่นกระบอกแต่แรกได้"เลียนเลียนแบบและกระบวนการร้องตามรอยหุ่นไหหลำ"นั้น เมื่อเทียบดูกับหุ่นไหหลำแล้ว ก็ไม่ได้มีเค้าของหุ่นกระบอกไทยเลย แต่การร้องเพลงหุ่นเข้าซอของหุ่นกระบอกไทยจะคล้ายไปทางการขับ "แอ่วเคล้าซอ" ทางอีสานของไทยเรามากกว่าจะคล้ายกระบวนร้องของหุ่นไหหลำ หรือแม้แต่เครื่องดนตรีของหุ่นไหหลำ ก็เต็มไปด้วยซอหลายชนิดเสียงดังระงม ต่างกับหุ่นกระบอกไทยซึ่งมีซออู้สีเคล้าเพลงหุ่นเพียงคันเดียวเท่านั้น อาจเป็นได้ว่าหุ่นไหหลำได้วิวัฒนาการมาจนไม่เหลือเค้าเดิมในปัจจุบัน

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved