ครูสาคร ยังเขียวสด เริ่มหัดโขนตั้งแต่ยังเยาว์จากพ่อแม่ และผู้คนแวดล้อมที่อยู่ในโรงละคร เมื่อเติบกล้าพอที่จะยืนหยัดด้วยตัวเอง ครูสาครจึงจัดตั้งคณะลิเกขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "คณะสาครนาฏศิลป์" หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้ชีวิตของครูสาคร และครอบครัวระหกระเหินอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งได้พบกับผู้สืบทอดมรดกการแสดงหุ่นละครเล็กของพ่อครูแกร บิดาผู้สร้างหุ่นละครเล็กให้ออกมาโลดแล่นตามจินตนาการ จึงได้เรียนรู้วิธีการแสดงควบคู่กับการสร้างหุ่นละครเล็ก
นอกเหนือตากลีลาท่าทางการเชิดหุ่นที่สะกดคนดูให้นิ่งงันกับการร่ายรำของหุ่นละครเล็กที่เคลื่อนไหวอยู่เบื้องหน้า สิ่งที่เสริมอารมณ์ให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามกับการแสดงก็คือ รูปร่าง และหน้าตาของหุ่น ที่ปั้นออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ราวกับถอดแบบออกมาจากคนจริงๆ งานฝีมือการสร้างหุ่นละครเล็ก หัวโขนหรือหุ่นกระบอกของครูสาครมิได้ด้อยไปกว่าฝีมือทางการแสดงเลย ความลึกซึ้งของงานศิลปะแขนงนี้ถูกถ่ายทอดสู่ผู้ชมนับตั้งแต่การเริ่มขึ้นโครงหุ่น ปั้นส่วนประกอบของตัวหุ่น ตลอดจนการใส่รายละเอียดต่างๆให้หุ่นแลดูงดงามสมจริง และสุดท้ายปิดฉากลงที่การแสดง
 
ด้วยความสวยงามในทุกรายละเอียด ความบรรจงสุดฝีมือ จึงทำให้ทีหลายคนมาว่าจ้างครูสาครให้ทำหัวโขนบ้าง หุ่นกระบอกบ้าง ซึ่งครูสารก็ยินดีทำให้ ยกเว้นการปั้นหุ่นละครเล็ก โดยครูให้เหตุผลว่า "ผมสร้างหุ่นละครเล็กเพื่อการแสดง และความจริงหุ่นละครเล็กเป็นของพ่อครูแกร ซึ่งเป็นของโบราณ ก่อนที่ผมจะสร้างหุ่นนี้ ผมก็ได้จุดธูปบอกท่านไว้ว่า ผมทำหุ่นละครเล็กขึ้นมามีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ มิใช่เพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตัว หรือต้องการชื่อเสียงเกียรติยศ"
 
หุ่นละครเล็กกว่า ๔๐ ตัว ที่ครูสาครปั้นขึ้นมาร่วม ๒๐ ปี ถูกเก็บรักษาอย่างดี และหุ่นเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นตำนานหุ่นของโจหลุยส์ เมื่อใดก็ตามที่คณะละครของครูสาครเปิดการแสดงครั้งใหม่ ก็จะมีหุ่นตัวใหม่ๆก่อกำเนิดขึ้นมาสร้างสีสันให้กับโรงละคร เรื่องราวที่ครูสาครนำมาใช้ในการแสดงมักจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาดกหรือรามเกียรติ์ หุ่นเกือบทั้งหมดที่มีอยู่จึงเป็นตัวละครในเรื่องดังกล่าว ทั้งพระนารายณ์ พระราม สุครีพ ชูชก ฯลฯ
 
หุ่นแต่ละตัวแม้จะใช้เวลาเพียงไม่ถึง ๑๐ วันต่อการทำหุ่นแต่ละตัว หากแต่ในทุกขณะนับตั้งแต่เริ่มคิดทำหุ่นละครเล็กตัวหนึ่งตัวใดขึ้นมา ชีวิต และจิตใจของครูสาครทั้งหมดจะมุ่งอยู่ที่การสร้างสรรค์ให้หุ่นละครเล็กแต่ละตัว ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมที่จะร่ายรำลีลางดงามให้คงอยู่ในใจของผู้ที่เข้าชมการแสดงของหุ่นละครเล็กคณะสาครนาฏศิลป์ตราบนานเท่านาน

ขอขอบคุณ บริษัท โจหลุยส์ เธียเตอร์ จำกัด ผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved