ตัวหุ่นตั้งแต่ปลายยอดชฎาจนถึงปลายเท้ามีความสูงประมาณ ๑ เมตร ทั้งนี้ไม่นับแกนไม้สำหรับถือตัวหุ่นซึ่งต่อยาวลงไปอีก ตัวหุ่นทำด้วยไม้ช่วงลำตัวส่วนหนึ่ง และช่วงสะโพกอีกส่วนหนึ่ง ทั้งอกและสะโพกนี้เป็นไม้คว้านจนบางเบาดี ช่วงเอวเป็นเส้นหวายขดเป็นวงซ้อนกันต่อระหว่างอกกับสะโพกเพื่อให้หุ่นเคลื่อนไหวยักสะเอวได้

 
แขนหุ่นหลวงมี ๔ ส่วน คือ จากต้นแขนถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง จากข้อมือถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง ตรงข้อมืออีกส่วนหนึ่ง และเฉพาะฝ่ามืออีกส่วนหนึ่ง ชิ้นส่วนเหล่านี้ต่างได้รับการบากให้เป็นแง่มุมในอันที่จะสะดวกต่อการขยับเคลื่อนไหว นิ้วทั้ง ๓ นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ล้วนขยับได้ ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วก้อย ที่ปลายเล็บทั้ง ๔ นั้น ทำเล็บเป็นทองยาวต่อออกมาจากปลายนิ้ว ที่ฝ่ามือเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมสำหรับผูกเส้นเชือก และทำกลไกบังคับให้นิ้วขยับได้ โดยมีผ้าชิ้นเล็กๆสีเดียวกับมือหุ่นปิดบนช่องสี่เหลี่ยมอีกทีหนึ่ง เส้นเชือกเหล่านี้จะร้อยผ่านไปตามข้อมือ และลำแขนเข้าสู่ภายในลำตัวหุ่น หากนับรูที่ต้นแขนจะมีรู้เจาะสำหรับสายเชือกชักเฉพาะแขน และมือนี้ ๑๑ รู
 
ส่วนขาของหุ่นหลวงมี ๒ ส่วน คือ จากต้นขาถึงเข่าส่วนหนึ่ง และจากเข่าถึงปลายเท้าอีกส่วนหนึ่ง ปลายเท้านี้มักจะแกะเป็นเท้าที่สวมรองเท้าปลายงอนสำหรับตัวพระ และยักษ์ ตัวนางไม่นิยมทำขาเพราะนุ่งผ้ากรอมไม่เห็นขา ส่วนตัวลิงก็แกะเป็นตีนลิง ฝ่าเท้านี้แกะติดกับส่วนแข้งไม่มีการกระดิกเคลื่อนไหว สายชักมีตั้งแต่ ๑-๓ สาย สายชักเหล่านี้จะออกมาจากส่วนก้นของหุ่น พร้อมทั้งแกนไม้ยาวสำหรับคนเชิดจับ และมีก้านไม้ขนาดย่อมอีกอันหนึ่งที่ต่อยาวลงมาจากส่วนคอของหุ่น สำหรับบังคับให้หุ่นหันหน้าไปมาได้
 
ศีรษะหุ่นหลวงมี ๒ ชนิด คือ แบบที่หน้าหุ่นกับคอหุ่นเป็นชิ้นเดียวกัน และหน้าหุ่นที่ทำเฉพาะส่วนหน้าอย่างหัวโขน โดยแบบประเภทของวัสดุที่ใช้ทำดังนี้
๑. แกะด้วยไม้ โดยมากมักเป็นหัวหุ่นตัวพระ ตัวนาง และยักษ์บางตัว แกะด้วยไม้เนื้อเบาทั้งหัวและคอ คว้านจนบางและเบาดี เท่าที่พบมักคว้านจากทางท้ายทอยด้านหลังของศีรษะ ที่เป็นหน้าพระหน้านางแกะเป็นหน้า "ทรงมะตูม" ทั้งสิ้น แล้วปิดกระดาษเขียนสี มีเส้นทอง เส้นฮ่อ และพรายปากอย่างหน้าโขนทุกประการ ชฎาหัวพระมักทำชั้นเชิงบาตรติดกับหัวหุ่นไปเลย ไม่ทำชฎามาสวมต่างหากเหมือนอย่างหัวหุ่นกระบอกบางคณะ ส่วนหัวนางมีทั้งที่สวมมงกุฎกษัตรีย์ และรัดเกล้า ส่วนหน้ายักษ์ก็แกะคว้านด้วยไม้เช่นกัน แต่ปั้นหน้าแต่งเติม คิ้ว ตา จมูก และพรายปากด้วยรักแล้วปิดกระดาษเขียนสีมีเส้นทอง เส้นฮ่ออย่างหน้าโขน รวมทั้งมงกุฎ และจอนหูก็ประดับด้วยลวดลายกระจัง ปิดทอง ประดับกระจกเกรียบเหมือนหัวโขนทั้งสิ้น
๒. หัวกระดาษ อันได้แก่หัวลิง และหัวยักษ์บางหัว ที่ทำอย่างหัวโขน คือ ไม่มีคอต่อลงมา แต่นำไปเย็บติดกับคอผ้าซึ่งเป็นถุงทรงกระบอกที่นำมาสวมปิดแป้นไม้กับแกนไม้ไว้ หัวเหล่านี้ทำเหมือนหัวโขนทุกอย่าง
หัวหุ่นหลวงเหล่านี้แม้จะมีขนาดใหญ่กว่าหัวหุ่นกระบอก แต่ก็มีน้ำหนักเบากว่ามาก ฝีมือการประดิษฐ์ก็ล้วนวิจิตรประณีต สมกับที่ได้ชื่อว่า "หุ่นหลวง" โดยแท้
 
เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับของหุ่นหลวงก็คล้ายกับเครื่องแต่งกายของโขน ละคร ตัวพระ และตัวยักษ์ใส่เสื้อแขนยาว มีอินทรธนู และชายไหว ชายแครง รัดสะเอว ตลอดจนนุ่งโจงกระเบนมีหางหงส์สำหรับตัวพระ และผ้าปิดก้นสำหรับตัวยักษ์
 
การเย็บปักใช้เลื่อมเงินเลื่อมทอง และตรึงแผ่นเงินพับสานขัดกันไปมาเป็นแถบยาว เรียกว่า "นมสาว" โดยตรึงไหมทองเป็นลวดลายล้อไปตามเลื่อมเหล่านี้ ส่วนเครื่องประดับ เช่น ทับทรวง ตาบทิศ ปั่นเหน่ง เป็นตะกั่วหล่อเป็นลายโปร่ง บางอันก็เป็นโลหะหรือหนังเลื่อยฉลุ แล้วติดลวดลายด้วยรัก ปิดทอง ประดับกระจกเกรียบไม่มีตุ้งติ้งห้อยส่วนล่างของทับทรวง

ที่มา : "หุ่นไทย" โดย อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต


Copyright © 2000 ANURAKTHAI.COM All Right reserved